Bangpakok Hospital

5 โรคฮิตที่มาพร้อมกับฤดูฝน

20 ส.ค. 2564





ฤดูฝน ที่ใครหลายๆคนไม่ค่อยชอบเพราะนอกจากอากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงแล้ว ในน้ำฝนมีสารปนเปื้อนและเชื้อโรคบางอย่างซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลายชนิดที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว 

ซึ่งโรคที่จะตามมากับฤดูฝนมีดังต่อไปนี้ 

1. โรคระบบทางเดินหายใจ
โรคในกลุ่มนี้มีหลายโรค เช่น
- โรคไข้หวัดใหญ่
- โรคหลอดลมอักเสบ
- โรคปอดอักเสบ และปอดบวม
เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวนบวกกับการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอ จาม ของผู้ป่วยเข้าไป ยิ่งช่วงหน้าฝนที่อากาศชื้นจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย เพียงแค่สัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อไวรัส หรือสัมผัสกับน้ำมูกที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ก็สามารถติดต่อกันได้แล้ว ดังนั้นวิธีการป้องกันคือ หากมีอาการป่วย หรือต้องอยู่ในที่ชุมชนแออัด ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ที่สำคัญควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ

2. โรคที่มียุงเป็นพาหะ
โรคในกลุ่มนี้มีหลายโรค เช่น
- โรคไข้เลือดออก
- โรคไข้สมองอักเสบ เจอี
- โรคมาลาเรีย
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุง เช่น ยุงลาย ยุงรำคาญ หรือยุงก้นปล่อง โดยส่วนใหญ่จะแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำ หรือภาชนะที่มีน้ำขัง อาการที่แสดงออกมักจะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ หากเป็นหนักอาจถึงขั้นช็อค หมดสติและเสียชีวิตได้ ทางที่ดีจึงควรป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมถึงหลีกเลี่ยงการโดนยุงกัด การเดินป่าในหน้าฝน หรือพยายามอยู่ให้ห่างจากพื้นที่ที่มีต้นไม้เยอะ

3.โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร
โรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่
- โรคท้องเดิน
- โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
- โรคบิด
- โรคอาหารเป็นพิษ
- โรคตับอักเสบ เป็นต้น
สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายไม่หยุดอาเจียน บางรายเป็นหนักถึงขั้นขาดน้ำและหมดสติได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง และน้ำดื่มที่ล้างสะอาด และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร

4. โรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง
โรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่
- โรคแลปโตสไปโรซิส หรือที่รู้จักกันในนาม "โรคฉี่หนู"
- โรคตาแดง
ซึ่งสาเหตุมาจากการสัมผัสกับน้ำที่มีเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วมขัง น้ำเสียในท่อระบายน้ำ น้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลทั้งจากคนและสัตว์ สัมผัสดิน สัมผัสอาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของของสัตว์ที่ติดเชื้อชนิดนี้ เช่น สุนัข วัว ควาย หนู สุกร ม้า สัตว์ป่า เป็นต้น
กลุ่มเสี่ยงผู้ที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่คือ กลุ่มเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ หากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขา รวมถึงอาการตาแดง คอแข็ง สลับกับไข้ลด หากเป็นหนักจะมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง หากเป็นหนักอาจมีอาการตับวายและไตวายได้ ดังนั้นวิธีป้องกันกันคือ หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือการเดินลุยในน้ำที่อาจมีเชื้อปัสสาวะจากสัตว์นำโรค หากจำเป็นควรสวมใส่รองเท้าบูทป้องกันทุกครั้ง

5. โรค มือ เท้า ปาก
โรคนี้พบบ่อยในเด็กเล็ก ติดต่อง่าย ไม่มีวัคซีนป้องกัน และมีโอกาสเป็นเพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าฝน หลังจากรับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย 1-2 วัน เจ็บปาก ไม่ยอมรับประทานอาหาร น้ำลายไหล เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน มีผื่นเป็นจุดแดงหรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว แขน ขา
ส่วนวิธีการป้องกันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ดังนั้นการป้องกันที่สำคัญ คือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และหมั่นทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อมที่เด็กอยู่ทุกวัน





Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.