Bangpakok Hospital

5 สัญญาเตือน “โรควิตกกังวล”

7 ส.ค. 2564



สถานการณ์ Covid -19 ในปัจจุบันอาจทำให้ใครๆหลายคนเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวลกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นสาเหตุการนำไปสู่โรควิตกกังวัลได้ และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตในหลายๆด้าน ทั้งด้านการทำงาน การเรียน และการเข้าสังคม เช่น โรคกลัวการเข้าสังคม โรคแพนิค และโรคย้ำคิดย้ำทำ หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายอย่างมากต่อสภาพจิตใจ


ซึ่งโรควิตกกังวลมีหลายชนิดและเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักๆ คือ เกิดจากพันธุกรรม เกิดจากสถานการณ์รอบตัวที่ส่งผลต่อความรู้สึก เกิดจากการทำงานที่เกิดความเครียดเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่อง โรควิตกกังวลสามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิดดังนี้

- โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder , CAD )
เกิดความกังวลที่มากกว่าปกติในเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น งาน ครอบครัว สุขภาพ การเรียน ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถระงับความรู้สึกได้ด้วยตัวเอง แต่หากวิตกกังวลแบบเดิมนานกว่า 6 เดือน ไม่สามารถปรับตัวให้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้ อาจทำให้เกิดความอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาต่อไป

- โรคแพนิค (Panic Disorder)
หรือโรคตื่นตระหนก เกิดความวิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุ หากเกิดอาการเจ็บปวดนิดหน่อยก็กลับมีความกังวล เช่น กลัวจะเป็นโรคร้าย ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ได้ป่วยทางกาย แต่ป่วยทางจิต อาการโรควิตกกังวลเกินเหตุ อาจเกิดเป็นพักๆ ทำให้เหงื่อออก ใจสั่น วูบเหมือนจะเป็นลม อาการแบบนี้จะส่งผลทำให้เสียสุขภาพจิต และนำไปสู่ภาวะอื่นๆได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า ติดสารเสพติด เป็นต้น

- โรคกลัวสังคม (Social Phobia)
เกิดความวิตกเมื่อไปอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าตัวเองจะต้องถูกจ้องมอง ทำอะไรน่าอาย ต้องคอยหลบ และมักคิดในแง่ลบว่าคนอื่นจะนินทาลับหลังทำให้ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน อาจทำให้เกิดอาการหน้าแดง เหงื่อออก คลื่นไส้ แต่ที่น่าสนใจโรคนี้มักแอบแฝงอยู่ในบุคคลที่ดูปกติ มองภายนอกดูสดใสแข็งแรง สาเหตุของอาการอาจเกิดจากการเลี้ยงดู ขาดทักษะการเข้าสังคม

-  โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder, OCD)
ความวิตกกังวลเกิดจากการคิดซ้ำไปซ้ำมา ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลใจ อาการแบบนี้จะไม่รุนแรงหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก แต่ทำให้เสียเวลาชีวิตไปกับพฤติกรรมเหล่านั้นไม่น้อย อาการย้ำคิดย้ำทำแบบนี้กลับพบบ่อยในคนวัยทำงาน เช่น คิดว่าลืมล็อคประตูบ้านต้องเดินกลับไปดูว่าล็อคหรือยัง คิดว่าลืมปิดก็อกน้ำต้องกลับไปเช็คอีกครั้ง เป็นต้น

- โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias)
เกิดความวิตกกังวลที่มากเกินไปในเรื่องบางเรื่อง เช่น กลัวเลือด กลัวที่แคบ กลัวสุนัข เป็นต้น แม้ว่าจะรู้สึกกลัวไม่สมเหตุสมผล แต่ก็ไม่สามารถห้ามความกลัวได้ พยายามจะหลีกเลี่ยงไม่เผชิญกับสิ่งที่ตัวเองกลัว ผู้ป่วยมักเกิดปฏิกิริยาทางกายขึ้นมาหากอยู่ในสถานการณ์จำเพาะเจาะจง เช่น ใจสั่น หน้ามืด มือ-เท้าเย็น อาจทำให้ใจสั่น หายใจลำบาก เหงื่อออก

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.