ทำความรู้จัก Antigen Test Kit ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น
ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้แจ้งประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) พ.ศ. 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้
"เพื่อให้มีการเข้าถึงการตรวจคัดกรองที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) ด้วยตนเอง อันจะทำให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์โรคโควิด-19 ของตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มแรก นำไปสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษาและป้องกันที่เหมาะสมโดยเร็ว ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อให้บุคคลอื่นและลดการติดเชื้อก่อโรค COVID-19 รายใหม่ รวมถึงได้รับบริการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญและนำไปสู่การควบคุมการระบาดของเชื้อก่อโรค COVID-19 ได้"
โดยประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อ Antigen test kit ได้ ตามสถานที่ดังนี้
-สถานพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์หรือสหคลินิกที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพ เวชกรรมหรือเทคนิคการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
-หน่วยงานของรัฐ เพื่อส่งต่อให้กับสถานพยาบาลของรัฐ และผู้ประกอบวิชาชีพ ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาครัฐ
-สถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ตามกฎหมายว่าด้วยยา เพื่อส่งต่อให้กับผู้ประกอบ วิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งมีหน้าท่ีปฏิบัติการในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสถานที่ ขายส่งยาแผนปัจจุบัน และสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ
-สถานที่หรือช่องทางอื่นที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด
Antigen Test Kit (AIK) หรือ Rapid Antigen Test คือ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการเก็บสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ทางจมูก กระพุ้งแก้ม ลำคอ น้ำลาย (Swab) โดยใช้การอ่านสีบน Strip Test ใช้เวลา 15 – 20 นาที ต่อ 1 ตัวอย่าง
โดยมีข้อแนะนำจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า Antigen Test Kit เหมาะกับผู้ที่สงสัยติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ (กรณีมีอาการแล้วแนะนำให้ตรวจแบบ Real-time PCR) และ หากทำการตรวจหลังได้รับเชื้อมาแล้วประมาณ 5 – 14 วัน จะให้ผลที่มีความแม่นยำ ทั้งนี้ Antigen Test Kit ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางลดความแออัดของจุดตรวจในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และ ใช้เพื่อการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น และ ควรได้รับการตรวจแบ RT-PCR ยังสถานพยาบาลเพื่อเป็นการยืนยันผลอีกครั้ง
ขั้นตอนการใช้งาน
- ศึกษาคู่มือการใช้งาน
- เตรียมถังขยะติดเชื้อสำหรับทิ้งอุปกรณ์หลังทำการตรวจเสร็จ
- นำน้ำยาเทลงในหลอดตัวอย่าง (เทให้ถึงบริเวณที่ขอบกำหนด)
- นำก้าน Swab แหย่เข้าไปทางจมูก
- หมุนก้าน Swab 3-4ครั้ง ค้างไว้ 3 วินาที
- นำก้าน Swab มาใส่หลอดหมุนวนในน้ำยาประมาณ 5 ครั้ง
- นำหลอดมาดูดน้ำยาและหยดลงในช่องประมาณ 2-3 หยด
การอ่านค่าหลังทำการตรวจ
-บนตลับทดสอบจะมีแถบสีปรากฏขึ้นมาตรงตำแหน่งควบคุม (C) และทดสอบ (T)
-หากผลเป็นลบ (Negative): แถบสีปรากฏเฉพาะตำแหน่ง C
-หากผลเป็นบวก (Positive): แถบสีปรากฏทั้งตำแหน่ง C และ T = 2 ขีด
-หากไม่สามารถแปลผลได้ หากไม่มีแถบสีปรากฏตรงตำแหน่ง C
ทั้งนี้ควรถ่ายรูปผลการทดสอบ พร้อมกับการระบุตัวตนบนตัวอย่าง และวันที่ทดสอบด้วย
ผลการตรวจเป็นบวก
- แจ้งหน่วยบริการใกล้บ้านที่ติดต่อได้
- แยกกักตัวเองจากผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อ โดยปฏิบัติ ดังนี้
-แยกห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัว
-หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง
-สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
-สังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิประจำ ถ้ามีอาการหายใจลำบาก ควรติดต่อขอรับเข้ารับการรักษา
-แจ้งผู้ใกล้ชิดกับตนเอง ให้ทราบความเสี่ยงจากการสัมผัส และควรได้รับการทดสอบการติดเชื้อต่อไป
ผลการตรวจเป็นลบ
- หากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง อาจอยู่ในระยะฟักตัว ควรทำการแยกตัว และทดสอบซ้ำอีกครั้งภายหลัง 3-5 วัน
- หากปรากฏอาการของโควิด ควรทำการทดสอบซ้ำอีกทีและถ้ามีประวัติเสี่ยง สัมผัส ควรแยกกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไว้ก่อน
ทั้งนี้การตรวจแบบ Antigen Test Kit เมื่อตรวจแล้วได้ผลเป็นลบ ก็ไม่ได้แปลว่า “ไม่ติดเชื้อ” เพราะเชื้ออาจจะยังมีน้อย หรือ ตรวจไม่เจอด้วยการตรวจวิธีนี้ ส่วนคนที่ตรวจแล้วเจอเชื้อ ต้องถูกคอนเฟิร์มด้วยการตรวจแบบ RT-PCR ที่เป็นมาตรฐานอีกครั้งหนึ่ง เป็นการยืนยันเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป