Bangpakok Hospital

หมั่นเช็คดัชนีมวลกายของเราเพื่อป้องกันโรคอ้วนและให้สุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ

15 ก.ค. 2564



จากข้อมูลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่า กลุ่มผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 ที่มีอาการการรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนหนึ่งมาจากผู้ป่วยโรคอ้วนที่ติดเชื้อโควิด จึงจำเป็นที่คนกลุ่มนี้จะถูกพิจารณาให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นกลุ่มเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงต่อความสูญเสีย

เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราผอมหรืออ้วนเกินไป?

ค่าดัชนีมวลกาย Body Mass Index ( BMI ) เป็นตัวที่ใช้ประเมินภาวะความอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถทำได้โดยใช้น้ำหนักตัว ( กิโลกรัม ) หารด้วยส่วนสูง ( เมตร ) ยกกำลัง2 


ผลของค่าดัชนีมวลกายจะเป็นตัวบ่งบอกถึงสภาวะร่างกายเรา โดยแบ่งเกณฑ์ได้ดังนี้

-ค่าดัชนีมวลกาย : น้อยกว่าหรือเท่ากับ 18.49 อยู่ในเกณฑ์ผอมเกินไป

-ค่าดัชนีมวลกาย : ระหว่าง 18.50 - 22.99 อยู่ในเกณฑ์ปกติ

-ค่าดัชนีมวลกาย : ระหว่าง 23.00 - 24.99 อยู่ในเกณฑ์เกินปกติไม่มาก

-ค่าดัชนีมวลกาย : ระหว่าง 25.00 - 26.99 อยู่ในเกณฑ์เริ่มท้วม

-ค่าดัชนีมวลกาย : ระหว่าง 27.00 - 29.99 อยู่ในเกณฑ์ท้วมอ้วน

-ค่าดัชนีมวลกาย : ระหว่าง 30.00 - 32.49 อยู่ในเกณฑ์เข้าข่ายโรคอ้วน

-ค่าดัชนีมวลกาย : ระหว่าง 32.50 - 34.99 อยู่ในเกณฑ์โรคอ้วน

-ค่าดัชนีมวลกาย : ระหว่าง 35.00 - 39.99 อยู่ในเกณฑ์โรคอ้วนมาก

-ค่าดัชนีมวลกาย : มากกว่า 40.00 ขึ้นไป อยู่ในเกณฑ์โรคอ้วนอันตราย


กรณีหากมีค่าดัชนีมวลกายที่สูง และถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง ระดับโคเลสเตอรอลและระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคข้อเข่าเสื่อม ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับหรือปัญหาในการหายใจ และโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ทั้งนี้การแปลผลค่า BMI ในนักกีฬา นักเพาะกายที่มีมวลกล้ามเนื้อสูง หรือผู้ป่วยโรคตับ ไต ที่มีภาวะบวมน้ำ อาจมีค่า BMI สูงได้โดยที่ไม่ได้มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนได้

 

เมื่อทราบผลค่าดัชนีมวลกายแล้ว ต้องปฏิบัติตัวเองเพื่อให้ห่างไกลโรคต่างๆดังนี้

-เลือกการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม โดยเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ 

โดยเฉพาะธัญพืช ผัก และผลไม้ ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหลักเกินวันละ 3 มื้อ และเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ หลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานอาหารมื้อหนักที่ต้องรับประทานมาก ๆ เช่น อาหารบุฟเฟ่ต์ อาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง ของมัน ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน และเลือกดื่มน้ำเปล่าหรือ  นมไขมันต่ำแทนน้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

-หมั่นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายด้วยกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายอย่างน้อย 150 – 300 นาที / สัปดาห์ ด้วยการเดิน วิ่ง เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ การออกกำลังกายเฉพาะส่วน อย่างการใช้เครื่องออกกำลังกาย การยกน้ำหนักหรือออกกำลังกายแบบผสมผสานกันหลายประเภท การออกกำลังกายไม่ได้จำกัดแต่เพียงในโรงยิม เพราะสามารถเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันให้เป็นการออกกำลังกายไปในขณะเดียวกันได้ด้วย เช่น การทำงานบ้านด้วยตัวเอง ลดการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกลง เดินให้มากขึ้น



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.