Bangpakok Hospital

โรคหลอดลมอักเสบ ปล่อยไว้นาน รักษาไม่ถูกวิธี เสี่ยงเป็นปอดอักเสบได้

5 ก.ค. 2564

โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลม เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการอักเสบบวม ทำให้เกิดอาการไอมาก มีเสมหะ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก อาจมีอาการเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บหน้าอกได้ ผู้ป่วยอาจมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อ ครั่นตัวได้ มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว และพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ 

โรคหลอดลมอักเสบ แบ่งเป็น 2 ชนิด

•โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute bronchitis) 

ส่วนใหญ่พบได้มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อไวรัส เหมือนไข้หวัด มักเป็นตามหลังไข้หวัด ซึ่งไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ทำให้การติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม ผู้ป่วยที่เป็นหวัด มีอาการไอ มีเสมหะ เป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์  ควรให้การรักษา หรือปฏิบัติตนให้ถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันได้

•โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic bronchitis) 

อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ โรคหืด รวมถึงการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน (มีอาการไอมีเสมหะมากกว่า 3 เดือน - 2 ปี) หรือสัมผัสกับมลภาวะ เช่นฝุ่น ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้ โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น อาจทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียว

อาการ

เมื่อเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจหรือบริเวณหลอดลม ทำให้อักเสบของเยื่อบุหลอดลมและบวมมากขึ้น ส่งผลให้หลอดลมตีบแคบ อากาศไหลเข้าสู่ปอดได้ไม่ดี หายใจลำบาก เกิดการอักเสบทำให้การขับเสมหะของเยื่อบุหลอดลมไม่ดี ส่งผลให้เกิดอาการไอมากขึ้น ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ คล้ายกับโรคหวัด โดยปกติส่วนใหญ่โรคนี้มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่อาการไอแห้ง อาจเป็นได้นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ในผู้ป่วยบางรายที่ผู้ป่วยสูงอายุมีอาการไอมากๆ ทำให้เจ็บกล้ามเนื้อ หน้าอก ชายโครง และอาจเกิดเส้นเลือดฝอยในปอดแตก ออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด จนเกิดอาการหอบเหนื่อยทันที หลังการไอ ทั้งนี้หากรักษาไม่ถูกวิธี การติดเชื้อจากหลอดลมอาจลามไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงมีความเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

 

การรักษา

โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน มักจะหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้อง

•พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เพราะน้ำเป็นยาละลายเสมหะได้ดีที่สุด

•หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควัน กลิ่นฉุน ควันบุหรี่ สารเคมี ฝุ่น สารระคายเคืองต่างๆ

•หลีกเลี่ยงอากาศเย็น และแห้ง ซึ่งจะทำให้ไอมากขึ้น

•ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายขณะนอนให้เพียงพอ 

•ควรหาสาเหตุที่ทำให้เป็นหลอดลมอักเสบ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้ภูมิต้านทานน้อยลง เช่น เครียด, นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ

•รักษาตามอาการ เช่น มีไข้ อาจรับประทานยาลดไข้แต่ถ้าไอมากๆ อาจรับประทานยาลดหรือระงับอาการไอ  ถ้ามีเสมหะมาก อาจรับประทานยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.