Bangpakok Hospital

เล่นโทรศัพท์มากไป เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม

2 เม.ย. 2564



ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)
 คือ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมลักษณะการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งอยู่หน้าคอมในท่าเดิมเป็นเวลานาน ขาดการเคลื่อนไหวค้างในท่าเดิมนานๆหรือไม่เปลี่ยนอิริยาบถจนทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งก่อให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและทำให้เกิดอาการได้ อาการออฟฟิศซินโดรมเกิดขึ้นได้กับทุกอาชีพโดยส่วนใหญ่มักจะพบได้มากในอาชีพพนักงานประจำ หรือที่เรียกกันว่าพนักงานออฟฟิศ สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดแบบซ้ำๆอยู่เป็นประจำ เช่น การนั่งที่ผิดวิธีสรีระของร่างกาย รวมไปถึงพฤติกรรมการเล่นโทรศัพท์มือถือและอยู่ในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานานๆ โดยขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย และถูกสะสมมากขึ้นทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรมได้

ออฟฟิศซินโดรมมีอาการอย่างไร? หรือสังเกตได้ยังไง?

ออฟฟิศซินโดรมมักจะมีอาการเริ่มต้นจากการปวดกล้ามเนื้อเบาๆลามไปจนถึงกระดูกทับเส้น หากใครที่เริ่มมีอาการปวดเมื่อยจากการนั่งทำงาน และสงสัยว่าจะเป็นออฟฟิศซินโดรม สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้

  1. ปวดกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น บริเวณช่วงหัวไหล่ คอ บ่า ท้ายทอย ช่วงหลังส่วนบนหรือส่วนล่าง ปวดข้อมือ ปวดเข่าหรือข้อเท้า ปวดสะโพกหรือต้นขา อาการปวดมักจะปวดเป็นบริเวณกว้างและร้าวไปบริเวณอื่นใกล้เคียง
  2. มีอาการข้างเคียงของระบบประสาท เช่น แขนขาชา ตาพร่ามัว ปวดไมเกรน ชาบริเวณมือและแขน หากมีการกดทับที่เส้นประสาทนานเกินไปอาจมีอาการอ่อนแรงจากส่วนต่างๆของร่างกายร่วมด้วย
  3. อาการด้านตา เช่น ปวดตา เมื่อยล้าตา มีอาการแสบตา ระคายเคือง ตราพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหล
  4. อาการแสดงทางผิวหนังมีอาการคันตามลำตัว เป็นผดผื่น
  5. อาการด้านทางระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก ไอ จาม คล้ายเป็นภูมิแพ้ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก แสบคอ คอแห้ง

หากปล่อยให้การอักเสบเรื้อรังไว้นานอาจทำให้กลายเป็นการอักเสบเรื้อรังจนทำให้เป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือเกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้

 
วิธีป้องกันออฟฟิศซินโดรม

-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงยืดกล้ามเนื้อทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย
-ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับตัวเอง เช่น
 : การปรับจอคอมพิวเตอร์ให้เป็นแนวตรงพอดีกับระดับใบหน้า โดยให้อยู่เหนือกว่าระดับสายตาเล็กน้อย

 : การวางจอคอมตั้งให้ห่างจากตัวโดยให้ระยะความยาวของแขนเป็นตัวกำหนด คีย์บอร์ดให้อยู่ในระดับศอกทำมุม 90 องศา
 : ปรับท่านั่งให้รู้สึกสบายและปรับเก้าอี้ให้เท้าวางบนพื้นได้พอดี 90 องศา ปรับพนักพิงหลังของเก้าอี้ให้รับกับแผ่นหลังช่วงล่างหรือใช้หมอนหนุนหลัง
-ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน
: ยืดหรือเหยียดกล้ามเนื้อระหว่างวัน ไม่ควรนั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน
: เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อทำให้กล้ามเนื้อได้เกิดการผ่อนคลายทุกๆ 1 ชั่วโมง
: พักสายตาจากจอคอมทุกๆ 10 นาที
: นั่งตัวตรงหลังชิดขอบด้านในของเก้าอี้


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.