Bangpakok Hospital

อายุมากขึ้น เสี่ยงเป็น "ต้อกระจก"

2 เม.ย. 2564



"ต้อกระจก (Cataract)"
 เป็นการเสื่อมตามสภาพของอายุ เป็นภาวะที่เลนส์ภายในลูกตามีความขุ่นขาว จึงทำให้แสงที่จะผ่านเข้าไปในดวงตาไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ทำให้เกิดอาการตามัว มองเห็นภาพเบลอ การมองเห็นสีต่างๆจะมีคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้อาการดังกล่าวอาจเกิดได้เร็วขึ้นหากมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน

ลักษณะของอาการ จะเริ่มมีอาการ ตาพร่ามัวลง รู้สึกเหมือนมีหมอกบัง มองเห็นภาพซ้อนและมองเห็นแสงกระจายขณะขับรถตอนกลางคืน ในบางรายอาจมีตาพร่ามัวมากในที่ที่มีแสงสว่าง สู้แสงไม่ได้แต่กลับมองชัดในที่มืด ในรายที่เป็นต้อกระจกเล็กน้อย อาจมีสายตาเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ และเมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น การเปลี่ยนแว่นสายตาก็จะไม่ทำให้การมองเห็นดีขึ้น

วัยไหนที่เสี่ยงเป็นต้อกระจก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีความเสื่อมของเลนส์ตาตามวัย แต่ก็มีอีกบางส่วนที่เป็นเป็นต้อกระจกด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น

  1. มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
  2. ต้อกระจกเป็นมาแต่กำเนิด
  3. เกิดจากกรรมพันธุ์โดยไม่ทราบสาเหตุ
  4. เกิดการกระทบกระเทือนที่ดวงตาอย่างรุนแรง หรือมีสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าไปในดวงตา
  5. การสูบบุหรี่
  6. การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมาก
  7. การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน

 วิธีป้องกันไม่ให้เกิดต้อกระจก

  1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์
  2. ระวังอย่าให้ดวงตาถูกการกระแทก
  3. ควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากสิ่งแวดล้อมภายนอก
  4. หากต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแบ่งเวลาในการพักสายตาบ้าง
  5. งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
  6. พักผ่อนหรือนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง
  7. รับประทานอาหารที่ให้สารอาหารครบ 5 หมู่
  8. กรณีจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อหรือนำมาใช้
  9. ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเป็นประจำทุกปี

การรักษาต้อกระจก

ในระยะเริ่มต้น : ระยะแรกของการเป็นต้อกระจก การเปลี่ยนแว่นสายตาสามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้

ในระยะยาว : เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น การมองเห็นแย่ลงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ ก็เป็นข้อบ่งชี้ให้แพทย์รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน คือ การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) และใส่เลนส์เทียม การผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนคนปกติทั่วไป และตาข้างที่เคยผ่าตัดแล้วจะไม่กลับมาเป็นต้อกระจกซ้ำอีก โดยภาพที่ได้จากการฝังเลนส์แก้วตาเทียมจะมีความใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด ผู้ป่วยจึงปรับตัวได้ง่าย หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการคันหรือรู้สึกไม่สบายตา อาจมีอาการน้ำตาไหล ดวงตาจะไวต่อแสงและการถูกสัมผัส ควรระมัดระวังการก้มหยิบสิ่งของบนพื้น งดเว้นการยกของหนัก หมั่นทำความสะอาดดวงตา และ ควรรับประทานยาตามแพทย์แนะนำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยในการรักษาประมาณ  2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด หากมีอาการผิดปกติหลังผ่าตัดควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรับการดูแลรักษาต่อไป


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.