Bangpakok Hospital

หน้าร้อนระวัง 5 อาหารเสี่ยงโรค

2 พ.ค. 2568

ฤดูร้อนในประเทศไทยไม่ได้มีแค่อากาศที่ร้อนจัดเท่านั้น แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของเรา โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มักถูกมองข้าม อาหารบางชนิดอาจทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสะสม บางอย่างเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค หรือทำให้ขาดน้ำโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่ายในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาการท้องเสีย อาเจียน เป็นไข้ หรืออ่อนเพลีย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพที่ไม่จำเป็น การรู้เท่าทันและหลีกเลี่ยงอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสมในฤดูร้อนจึงเป็นเรื่องสำคัญ


ระวัง 5 ประเภทอาหารและเครื่องดื่มในหน้าร้อน เสี่ยงป่วยไม่รู้ตัว

 

  1. ทุเรียน พลังงานสูง ร้อนในง่าย

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่หลายคนชอบในฤดูร้อน แต่รู้หรือไม่ว่า ทุเรียนจัดเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานและไขมันสูงมาก ร่างกายต้องใช้พลังงานในการย่อยมากขึ้น จึงเพิ่มความร้อนในตัว ทำให้เกิดอาการร้อนใน ปากเป็นแผล หรือแม้กระทั่งเป็นไข้ได้ในบางราย

นอกจากนี้ในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยง หรือรับประทานในปริมาณจำกัด เพราะน้ำตาลและไขมันในทุเรียนอาจทำให้อาการของโรคกำเริบ

แนะนำ หากอยากรับประทานทุเรียน ควรทานในปริมาณน้อย และควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ ควบคู่กัน

 

  1. น้ำแข็งไส เย็นชื่นใจ แต่อาจพาเชื้อโรคเข้าร่างกาย

น้ำแข็งไสเป็นของหวานยอดนิยมที่ช่วยคลายร้อนได้ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ น้ำแข็ง ซึ่งอาจไม่สะอาดเพียงพอ โดยเฉพาะน้ำแข็งหลอดที่ผลิตจากโรงน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือใช้น้ำไม่ผ่านการกรอง อาจปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อิโคไล หรือซาลโมเนลลา ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงได้

แนะนำ ควรเลือกร้านค้าที่มีสุขลักษณะดี ใช้น้ำแข็งที่ผลิตจากน้ำดื่มสะอาด และล้างภาชนะให้ดีทุกครั้งก่อนใช้งาน



  1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มแล้วเสี่ยงขาดน้ำ

ในฤดูร้อน ร่างกายเสียเหงื่อมาก การดื่มแอลกอฮอล์ในสภาพอากาศร้อนจัดจะยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำเร็วขึ้น เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ นอกจากนี้ยังเร่งให้หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย หน้ามืด หรือถึงขั้นช็อกในกรณีรุนแรง

แนะนำ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ในช่วงที่อากาศร้อนมาก และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอทุกวัน (อย่างน้อย 6-8 แก้ว)

 

  1. อาหารปรุงไม่สุก แหล่งสะสมเชื้อโรค

อาหารจำพวกเนื้อดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรืออาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ยำ ลาบ ก้อย ปลาร้า อาจมีเชื้อโรคหรือพยาธิปนเปื้อนอยู่ โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เชื้อโรคจะแพร่ขยายได้เร็ว อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง หรืออาหารเป็นพิษได้ง่าย

แนะนำ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ร้อนทั่วถึง และเก็บอาหารไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดเสมอ

 

  1. อาหารมักดอง เสี่ยงหมดอายุและปนเปื้อน

อาหารหมักดอง เช่น ผักดอง ปลาเค็ม ปลาร้า มักเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเก็บไม่ดี หรือซื้อจากแหล่งที่ไม่สะอาด อาจเสื่อมคุณภาพ เสี่ยงมีสารพิษ เช่น ไนไตรต์ หรือเชื้อราเจือปน ทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน หรือแพ้สารพิษได้

แนะนำ ตรวจสอบวันหมดอายุ เลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื้อถือได้ และหากอาหารมีกลิ่นผิดปกติ ไม่ควรบริโภค

 

อาการร้อนส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพอาหารโดยตรง เพื่อความปลอดภัย ควรเลือกบริโภคอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงของหมักดอง น้ำแข็งปนเปื้อน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้ร่างกายยิ่งแย่ลงในฤดูร้อน ใส่ในเรื่องกินในหน้าร้อน ช่วยให้คุณมีสุขภาพดีได้ง่าย 




Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.