4 ขั้นตอนการทำรากฟันเทียม

การสูญเสียฟันอาจส่งผลต่อความมั่นใจและการใช้ชีวิตประจำวัน การทำรากฟันเทียมเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยคืนรอยยิ้มและความมั่นใจให้กับผู้ที่สูญเสียฟันแท้ ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกขากรรไกรอีกด้วย การทำรากฟันเทียมจึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการแก้ปัญหาฟันหลอ มาดูกันว่าขั้นตอนการทำรากฟันเทียมมีอะไรบ้าง และควรดูแลอย่างไรหลังการรักษา
ขั้นตอนการทำรากฟันเทียม
- ตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษา ทันตแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพช่องปากอย่างละเอียด รวมถึงการถ่ายภาพเอกซเรย์หรือสแกนสามมิติ เพื่อประเมินโครงสร้างกระดูกขากรรไกร และวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
- การฝังรากฟันเทียม ทันตแพทย์จะทำการฝังรากฟันเทียมลงในกระดูกขากรรไกรโดยใช้ยาเฉพาะที่ ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาไม่นาน แต่ต้องรอให้กระดูกยึดติดกับรากฟันอย่างมั่นคง
- การรอให้รากฟันเทียมยึดติดกับกระดูก กระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ระหว่างนี้ต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
- การเตรียมการติดตั้งครอบฟัน เมื่อรากฟันเทียมยึดติดกับกระดูกเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ฟันเพื่อออกแบบครอบฟันให้มีลักษณะใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ จากนั้นจพทำการติดตั้งครอบฟันเพื่อให้สามารถใช้งานได้เหมือนฟันปกติ
วิธีปฏิบัติตัวหลังใส่รากฟันเทียม
เพื่อให้รากฟันเทียมยึดติดกับกระดูกอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด อาหารที่ร้อนจัด เย็นจัด แข็ง หรือเหนียวมาก ในช่วง 1-5 วันแรกหลังการทำรากฟันเทียม เพื่อลดการระคายเคืองบริเวณแผล
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ เพราะอาจส่งผลต่อการสมานแผลและการยึดติดของรากฟันกับกระดูก
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักในช่วงแรกหลังการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงของอาการบวมและเลือดออก
- คอยสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดมากขึ้น แผลบวมแดง หรือแผลไม่หาย ควรรีบพบทันตแพทย์ทันที
- รักษาความสะอาดช่องปากอย่างเคร่งครัด และมาตามนัดของทันตแพทย์เพื่อเช็กความคืบหน้าของการรักษา
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหลังการทำรากฟันเทียม
ในช่วงแรกหลังการทำรากฟันเทียม ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจสร้างแรงกดทับ หรือระคายเคืองแผล เพราะรากฟันเทียมยังไม่ยึดติดกับกระดูกอย่างสมบูรณ์ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดการอักเสบ หรือทำให้รากฟันเทียมหลุดออกมาได้
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- อาหารแข็ง เช่น ถั่วแข็ง น้ำแข็ง หรือขนมกรุบกรอบ
- อาหารเหนียว เช่น ข้าวเหนียว หมากฝรั่ง หรือคาราเมล
- อาหารร้อนจัดหรือเย็นจัด เพราะอาจทำให้แผลระคายเคือง
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากส่งผลต่อกระบวนการสมานแผล
การทำรากฟันเทียมเป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพช่องปาก และมีคุณภาพชีวิตในระยะยาว หากดูแลอย่างเหมาะสม จะช่วยให้รากฟันเทียมมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และสามารถกลับมายิ้มได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง