รู้ทันอันตราย โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ที่เกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองถูกขัดขวาง ส่งผลให้เซลล์สมองขาดออกซิเจน หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา อาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ โรคนี้ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นหนึ่งในภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยมีความพิการระยะยาวที่สุด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองมีทั้งแบบควบคุมได้ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือด การสูบบุหรี่ รวมถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อายุ พันธุกรรม อย่างไรก็ตามการเฝ้าระวังอาการเบื้องต้นด้วยหลัก F.A.S.T. จะช่วยให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของโรค และเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวได้มากขึ้น
โรคนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
- โรคหลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดสมองซึ่งอาจเกิดจาก
- ลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมองเอง เกิดจากการสะสมของไขมันและคราบหินปูน ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงเรื่อยๆ
- ลิ่มเลือดหลุดจากที่อื่นแล้วไปอุดตันสมอง ลิ่มเลือดที่เกิดจากหัวใจ หรือส่วนอื่นของร่างกายถูกพัดมากับกระแสเลือด และอุดตันหลอดเลือดสมอง
- โรคหลอดเลือดสมองแตก เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตกทำให้เลือดรั่วไหลไปทำลายเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งแบ่งออกเป็น
- เลือดออกในสมอง เลือดออกในสมองโดยตรง มักเกิดจากความดันโลหิตสูง
- เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง เลือดออกบริเวณระหว่างสมองและเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง มักเกิดจากหลอดเลือดโป่งพองแล้วแตก
สังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองด้วยหลักการ F.A.S.T
เนื่องจากโรคนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การสังเกตอาการเบื้องต้นและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญ สามารถใช้หลักการ F.A.S.T ในการจดจำอาการที่อาจเกิดขึ้นได้
- F – Face (ใบหน้า) ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ยิ้มแล้วมุมปากตกข้างใดข้างหนึ่ง
- A – Arms (แขน) แขนอ่อนแรง ยกแขนสองข้างขึ้นแต่ข้างหนึ่งตกลง
- S – Speech (การพูด) พูดไม่ชัด พูดติดขัด หรือไม่สามารถพูดได้
- T – Time (เวลา) รีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะการรักษาภายใน 4 ชั่วโมงแรกจะช่วยลดความเสียหายของสมองได้
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ได้แก่
- ความดันโลหิตสูง ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้
- โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้หลอดเลือดแข็งและตีบง่าย
- ไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน
- โรคหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจทำให้เกิดลิ่มเลือด
- การสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วขึ้น
- ขาดการออกกำลังกายและน้ำหนักเกิน เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือด
- ความเครียด ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
- ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
- ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง
- ควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
- เลิกสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงและเค็มจัด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์
- จัดการความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
- การใช้ยาละลายลิ่มเลือด ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หากได้รับยาภายใน 4 ชั่วโมงแรก
- การรักษาด้วยการขยายหลอดเลือด ใช้ขดลวดหรืออุปกรณ์พิเศษเข้าไปกำจัดลิ่มเลือด
- การผ่าตัด สำหรับกรณีหลอดเลือดแตกที่มีเลือดออกในสมองมาก
- กายภาพบำบัด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรง หรือสูญเสียความสามารถบางอย่าง
โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน การรู้จักอาการโรคผ่านหลักการ F.A.S.T จะช่วยให้สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ทันเวลา นอกจากนี้การดูแลสุขภาพและควบคุมปัจจัยเสี่ยงจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้ หากพบอาการผิดปกติ โทร 1669 สายด่วนฉุกเฉิน หรือ 1745 BPK HOTLINE เพื่อรับคำแนะนำและความช่วยเหลือทันที