ป้องกันอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากภัยฝุ่นละออง PM2.5
ฝุ่นละออง PM2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กและมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน จะมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของเราถึง 20 เท่า เราไม่สามารถที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่าได้และเมื่อฝุ่นเหล่านี้มารวมตัวกันเยอะมากๆ จะทำให้เรามองเห็นเป็นลักษณะที่คล้ายกับหมอกจางๆ หรือควัน และ มีผลกระทบส่งผลต่อสุขภาพ โดยเมื่อสัมผัสฝุ่น PM2.5 เข้าไปจะมีอาการไอ จาม ระคายเคืองตา และผิวหนัง ทั้งนี้หากรับฝุ่นละออง PM2.5 เข้าไปในปริมาณที่มากจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวมีผลต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และ มีความเสี่ยงของการเกิดที่ร้ายแรง เช่น โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองด้วย
แหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง PM2.5 ส่วนใหญ่เกิดมาจากมลภาวะของโรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า เผาขยะ ควันท่อไอเสียรถ การเผาเชื้อเพลิง และการก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในกรุงเทพฯ เป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีการก่อสร้าง และ มีการจราจรที่แออัด อันเป็นสาเหตุหลักของฝุ่นพิษ PM2.5 ที่สงผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนจึงเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบและรุนแรงมากที่สุดจากฝุ่น PM2.5
กลุ่มที่มีความเสี่ยงของการรับมลพิษฝุ่นละออง PM2.5 ได้แก่ อาชีพที่ทำงานกลางแจ้ง อาทิ ตำรวจจราจร รปภ. พนักงานสนามกอล์ฟ เกษตรกร ประมง ผู้รับเหมา ช่างก่อสร้าง เป็นต้น
วิธีป้องกัน
- สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ดีและมีประสิทธิภาพคือ หน้ากาก N95 ซึ่งมีราคาสูงกว่าหน้ากากอนามัย และบางคนอาจสวมแล้วอาจให้ความรู้สึกอึดอัด เพราะหายใจได้ลำบากกว่าปกติ
- หากไม่ใช้หน้ากาก N95 อาจใช้หน้ากากอนามัยที่มีฟิลเตอร์รองรับ 3 ชั้น หรือถ้าหากหาไม่ได้จริงๆ อาจใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาแต่สวมทับ 2 ชั้น หรือซ้อนผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชูไว้ด้านในก็ได้
-พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิดเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากจำเป็นต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองเมื่ออยู่ข้างนอกอาคาร
- ใช้เครื่องฟอกอากาศ เนื่องจากภายในอาคารอาจไม่ปลอดภัยจาก PM2.5 เสมอไป โดยเฉพาะอาคารที่มีการเปิดปิดประตูบ่อยครั้งจากการที่มีผู้คนเข้าออกจำนวนมาก ดังนั้นเครื่องฟอกอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้หายใจในอาคารได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น