6 พฤติกรรมทำให้อ้วน ปรับใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าเดิม
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงควบคุมอาหาร หรือออกกำลังกายแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าน้ำหนักไม่ลดลง หรือรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงตามที่หวัง จริงๆ แล้ว พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันของเราอาจเป็นตัวการที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการกินจุบจิบ การเคี้ยวเร็ว หรือการอดนอน พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพและน้ำหนักของเรา
6 พฤติกรรมที่ทำให้อ้วน
- กินเร็วจนเกินไป การกินอาหารอย่างรวดเร็วทำให้เราไม่ทันรู้ตัวว่าร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอแล้ว ซึ่งอาจทำให้กินเกินปริมาณที่จำเป็น ทางแก้คือ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดและช้าลง โดยเคี้ยวประมาณ 20-30 ครั้ง/คำ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้สมองรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
- กินจุบจิบ การมีขนมหรือของว่างติดตัวเป็นนิสัยอาจทำให้เราเผลอกินบ่อยๆ จนทำให้พลังงานเกินพอดี ทางที่ดีคือ หลีกเลี่ยงการซื้อขนมติดไว้ที่บ้านหรือที่ทำงาน และหากต้องการกินขนมควรเลือกผลไม้หรือถั่วที่มีประโยชน์แทน
- อารมณ์ไหนก็กิน บางคนอาจใช้การกินเป็นวิธีระบายอารมณ์ โดยเฉพาะเมื่อเครียด เศร้า หรือเบื่อ แทนที่จะกินเมื่อรู้สึกอารมณ์ไม่ดี ลองเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น การเดินเล่น การอ่านหนังสือ หรือการฟังเพลง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจแทนการกิน
- นอนดึก - กินดึก การนอนหลับไม่เพียงพอหรือการนอนดึก อาจทำให้ร่างกายเกิดความหิวและกระตุ้นให้เรากินอาหารเพิ่มขึ้นในวันถัดไป แนะนำให้นอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง/คืน เพื่อช่วยควบคุมฮอร์โมนและลดความอยากอาหาร
- งดมื้อเช้า การงดมื้อเช้าทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ส่งผลให้เราหิวมากในมื้อต่อไป และอาจกินเกินปกติได้ ดังนั้น ควรกินอาหารเช้าที่ครบถ้วนและมีสารอาหาร 5 หมู่ เพื่อให้พลังงานกับร่างกายและช่วยควบคุมน้ำหนัก
- กินเกินพอดี การกินเกินพอดีเป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มน้ำหนัก เราควรฝึกทานเพียงพอแค่ให้อิ่ม ไม่ควรกินอิ่มมากเกินไป เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี และช่วยลดการสะสมของพลังงานเกิน