มะเร็งเต้านม โรคที่ผู้ชายก็เป็นได้
มะเร็งเต้านมมักถูกมองว่าเป็นโรคที่พบในผู้หญิงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน แม้จะพบได้น้อยกว่าผู้หญิงก็ตาม จากสถิติพบว่า ผู้ชาย 100 คน มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ที่ประมาณ 0.5-1% ซึ่งอาจดูน้อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม โดยเฉพาะเมื่อผู้ชายมักไม่รู้ตัวและตรวจพบในระยะที่โรคพัฒนาไปไกลแล้ว นั่นทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากขึ้น
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในผู้ชาย
- อายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากขึ้น โดยมะเร็งเต้านมมักจะพบได้ในผู้ชายที่มีอายุมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและการสะสมของความเสื่อมในเซลล์
- ภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เนื่องจากเซลล์ไขมันสามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ ซึ่งทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น นอกจากนี้คนที่มีไขมันส่วนเกินมากมักมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งด้วย การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงได้
- พันธุกรรมและประวัติครอบครัว ผู้ชายที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะหากญาติใกล้ชิด เช่น แม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นโรคนี้ จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น ยีนที่มีการกลายพันธุ์ เช่น BRCA1 และ BRCA2 มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม การกลายพันธุ์ของยีนเหล่านี้สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
- ฮอร์โมนเพศหญิงสูงกว่าปกติ หรือภาวะกลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter Syndrome) เป็นภาวะทางพันธุกรรมที่พบได้ในผู้ชายซึ่งมีโครโมโซมเพศเกินมาอีกหนึ่งคู่ (XXY) ภาวะนี้ทำให้ผู้ชายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่าปกติ และระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำกว่าปกติ นอกจากนี้จะทำให้ร่างกายมีลักษณะที่คล้ายกับเพศหญิงมากขึ้นแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านมด้วย
- เคยฉายรังสีบริเวณหน้าอก ผู้ชายที่เคยได้รับการฉายรังสรบริเวณหน้าอก เพื่อรักษามะเร็งหรือโรคอื่นๆ มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม การได้รับรังสีในปริมาณมากอาจทำให้เซลล์ปกติกลายพันธุ์และกลายเป็นเซลล์มะเร็งในอนาคตได้
- การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เป็นเวลานานสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลายชนิด และรวมถึงมะเร็งเต้านมในผู้ชาย การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการเพิ่มระดับเอสโตรเจนในร่างกาย และยังมีสารก่อมะเร็งในแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่สามารถทำลายเซลล์ปกติในร่างกายได้
แม้ว่ามะเร็งเต้านมในผู้ชายจะเป็นโรคที่พบได้น้อย แต่การรู้จักและเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ชายสามารถป้องกันและตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยง เช่น การลดน้ำหนัก การเลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึงการตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยให้การป้องกันและการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น