Bangpakok Hospital

เซ็บเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบที่ไม่ควรมองข้าม

9 ต.ค. 2567

เซ็บเดิร์ม เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่มักเกิดขึ้นในบริเวณที่มีต่อมไขมันหนาแน่น เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า หน้าอก เป็นต้น เซ็บเดิร์มสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในกลุ่มทารกและผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 50 ปี แต่ก็สามารถพบในคนทุกช่วงวัยเช่นกัน นอกจากนี้โรคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักเกิดขึ้นในคนที่มีผิวมัน ผู้ที่เป็นเซ็บเดิร์มจะมีผิวหนังลอกเป็นขุย ผื่นแดง และมีอาการคัน แม้จะไม่ใช่โรคอันตรายแต่สามารถสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ที่เป็นได้


สาเหตุของการเกิดโรค

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น การเจริญเติบโตของยีนส์ชนิด Malassezia ที่อยู่บนผิวหนัง การทำงานผิดปกติของต่อมไขมัน รวมถึงปัจจัยด้านภูมิคุ้มกัน ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรคได้


อาการที่พบได้บ่อย

  • ผิวหนังอักเสบลอกเป็นขุย มีลักษะสีเหลืองหรือสีขาว
  • อาจมีรังแคหนาที่ศีรษะ
  • มีอาการผื่นแดงและคันจากผิวหนังอักเสบ

บริเวณที่มักเกิดโรค

  • ศีรษะและใบหน้า
  • คิ้วและระหว่างคิ้ว
  • ร่องจมูก
  • หูและหลังหู
  • หน้าอกและหลัง

ปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นได้

  • ความเครียด ความเครียดทางจิตใจและร่างกายสามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ซึ่งมีผลทำให้อาการเซ็บเดิร์มแย่ลงได้ โดยเฉพาะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของยีสต์บนผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การอดนอน การนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและทำให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้อย่างเต็มที่ การอดนอนอาจทำให้อาการของโรคเซ็บเดิร์มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว
  • โรคทางกายบางอย่าง โรคทางระบบประสาท เช่น พาร์กินสัน หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างเช่น HIV มีความเชื่อมโยงกับโรคเซ็บเดิร์ม เนื่องจากทั้งสองโรคทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่ดีพอที่จะควบคุมการเจริญเติบโตของยีสต์
  • ฤดูหนาว ในช่วงฤดูหนาวอากาศที่แห้งและเย็นอาจทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้น ซึ่งส่งผลให้อาการลอกเป็นขุยและผื่นแดงรุนแรงขึ้น นอกจากนี้การใส่เสื้อผ้าหนาอาจทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น
  • แสงแดด ในบางคนแสงแดดอาจกระตุ้นให้อาการเซ็บเดิร์มแย่ลงได้ เนื่องจากแสง UV สามารถทำให้ผิวระคายเคืองและแห้ง ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในบางกรณี แสงแดดอาจช่วยบรรเทาอาการได้ ดังนั้นการตอบสนองต่อแสงแดดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
  • ยาบางชนิด เช่น ยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน หรือยาต้านอักเสบบางชนิด อาจทำให้อาการเซ็บเดิร์มแย่ลง หรือเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หากพบว่าอาการแย่ลงหลังการใช้ยา

วิธีการรักษา

เซ็บเดิร์มเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีรักษาและบรรเทาอาการได้ดังนี้

  1. ใช้แชมพูหรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมของการลดการอักเสบ เช่น เซลิเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) หรือคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งช่วยลดการเจริญเติบโตของยีสต์
  1. ครีมสเตียรอยด์ ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบสำหรับการควบคุมอาการระคายเคืองในบริเวณผิวที่เป็นมาก 
  1. การดูแลผิวที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ระคายเคืองผิวและรักษาความสะอาดของหนังศีรษะและผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ

ข้อควรระวัง

  • ควรหลีกเลี่ยงการขีดข่วนหรือเกาบริเวณที่จะทำให้เกิดการระคายเคือง
  • ควรสระผมอย่างเบามือ หรือไม่ขยี้แรงๆ
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพราะอาจทำให้เป็นมากขึ้น
  • ทายาสเตียรอยด์อ่อนๆ หรือคีโตโคนาโซลหรือครีมอื่นตามคำแนะนำของแพทย์


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.