Bangpakok Hospital

วัคซีนงูสวัด เกราะป้องกัน ที่ลดความรุนแรงของโรค

8 ต.ค. 2567

หลายคนคงเคยได้ยินมาว่า ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ และสภาพร่างกายอ่อน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัด แต่สาเหตุที่แท้จริงของโรคคืออะไร อาการที่ควรระวังมีอะไรบ้าง และรวมถึงแนวทางการป้องกัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

สาเหตุของการเกิดโรคงูสวัด

งูสวัด (Shingles) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella Zoster Virus ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มเดียวกันที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยมักพบในผู้ที่เคยติดเชื้ออีสุกอีใสมาก่อน เมื่อเป็นอีสุกอีใสแล้วเชื้อไวรัสจะซ่อนอยู่ในระบบประสาทและสามารถกลับมาแสดงอาการได้อีกครั้งในรูปแบบของงูสวัด โดยมักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

 

อาการของโรคงูสวัดมี 3 ระยะ 

ระยะที่ 1  มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดแสบปวดร้อน หรือปวดศีรษะ

ระยะที่ 2 ผื่นแดงจะเริ่มปรากฏบนผิวหนัง และกลายเป็นตุ่มใส

ระยะที่ 3 เกิดผื่นตุ่มน้ำตามแนวเส้นประสาทบริเวณลำตัว หรือแขนขาข้างใดข้างนึงของร่างกาย

 

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคงูสวัด

  1. ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  2. ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เครียด ภาวะเหล่านี้จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง 
  3. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด

  • Postherpetic neuralgia (PHN) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดอาการปวดเส้นประสาทหลังจากผื่นหายไป ซึ่งอาจกินเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง ถ้าผื่นมีการติดเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้แผลหายช้า และมีความเสี่ยงเกิดแผลเป็น
  • การสูญเสียการมองเห็น ถ้างูสวัดเกิดใกล้ดวงตา อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในดวงตาและสูญเสียการมองเห็นได้
  • หากงูสวัดเกิดขึ้นบริเวณหู อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การเป็นอัมพาตครึ่งซีกของใบหน้า มีอาการบ้านหมุน อาเจียน หรือตากระตุกได้
  • ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ งูสวัดสามารถแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด สมอง หรืออวัยวะภายใน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะอันตรายถึงชีวิตได้
  • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นงูสวัด เชื้ออาจส่งผลไปยังทารกในครรภ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น มีแผลเป็น แขนขาผิดรูป ศีรษะเล็ก หรือปัญหาทางสมอง

แนวทางการรักษา

การรักษามักเริ่มต้นด้วยการใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของอาการ ป้องกันการลุกลามของตุ่มน้ำ และช่วยบรรเทาอาการปวดและการอักเสบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การรักษาเพิ่มเติมอาจรวมถึงการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดอาการคัน หรือยาปฏิชีวนะในกรณีที่เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน

การป้องกัน

สามารถทำได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และการออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่นของผู้ป่วยงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยติดเชื้ออีสุกอีใสมาก่อน

 

สำหรับผู้สูงอายุ การฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดเป็นสิ่งที่จำเป็น แม้การฉีดวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% แต่อาการจะลดความรุนแรงลง และภาวะแทรกซ้อนมักจะเกิดน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.