เลี่ยง 3 สิ่ง ไม่เสี่ยงเบาหวาน
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า น้ำตาลในผลไม้นั้นเป็นน้ำตาลที่ดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ทั้งกับคนปกติและคนที่เป็นเบาหวาน เพราะเป็นสารจากธรรมชาติ แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดเพราะน้ำตาลที่พบในผลไม้มีด้วยกันถึง 3 ชนิด คือ ฟรุกโทส กลูโคส และซูโครส ซึ่งแต่ละชนิดให้ประโยชน์แตกต่างกันเช่น
- ฟรุกโทส คือ น้ำตาลที่ร่างกายสามารถดูดซีมได้โดยไม่ต้องใช้ฮอร์โมนอินซูลินช่วย ดังนั้น ผู้ที่เสี่ยงหรือผู้ป่วยเบาหวาน บริโภคน้ำตาลชนิดนี้ได้ ในปริมาณที่พอเหมาะโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง
- กลูโคสและซูโครส คือ น้ำตาลที่ต้องใช้ฮอร์โมนอินซูลินในการดูดซึม จึงเป็นน้ำตาลที่ผู้ที่เสี่ยงหรือผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง
ดังนั้นควรเลือกทานผลไม้อย่างระมัดระวัง เพราะหากทานมากจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินพอดี โดยเฉพาะอย่ายิ่งในกลุ่มผู้ป่วย หรือผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
เลี่ยง 3 สิ่ง ไม่เสี่ยงเบาหวาน
- เลี่ยงผลไม้หวานน้อย เพราะผลไม้หวานน้อยไม่ได้ดีเสมอไป มีผลไม้บางประเภทแม้มีรสชาติหวาน แต่กลับมีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคสและซูโครส ในสัดส่วนที่สูง หากบริโภคอย่างไม่ระมัดระวัง ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นโรคเบาหวานอาจเสี่ยงระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดอันตรายได้ ตัวอย่างเช่น กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง แก้วมังกร ข้าวโพดเหลืองต้ม สละ ระกำ ลูกท้อ สับปะรดภูแล เป็นต้น
- เลี่ยงผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกเกด ลูกพลับ พุทราจีนแดง อินทผลัม เป็นต้น แม้ว่าเป็นชนิดที่ไม่ผ่านกระบวนการเติมน้ำตาล แต่เนื่องจากส่วนที่เป็นน้ำได้ระเหยออกไปมาก จึงทำให้มีน้ำหนักเบาลง อาจทำให้บริโภคได้มากกว่าผลไม้สด เพราะอิ่มช้ากว่า ในขณะที่มีปริมาณน้ำตาลเท่าๆ กัน ตัวอย่างเช่น พุทราจีนแห้ง 100 กรัม มีน้ำตาลอยู่ถึง 13 ช้อนชา , อินทผลัม มีน้ำตาล 14 ช้อนชา
- เลี่ยงผลไม้ดอง เพราะผลไม้สดดีที่สุด และไม่อาจทดแทนได้ด้วยผลไม่แปรรูป เช่น ผลไม้แช่อิ่ม กวน หรือคลุกเกลือน้ำตาล รวมทั้งน้ำผลไม้สำเร็จรูป เพราะวิตามินและสารที่มีคุณค่าในผลไม้จะสูญสลายไปตามอายุ และการได้รับความร้อน อีกทั้งในผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้ยังมีการเติมน้ำตาลเพื่อปรุงรสเข้าไปจำนวนมาก และอาจรวมถึงสารเคมีต่างๆ อีกด้วย
ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีควรรับประทานผักและผลไม้วันละ 400 กรัม ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)