Bangpakok Hospital

7 อาหารโซเดียมสูง ที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยง

16 ส.ค. 2567

อาหารที่มีรสชาติเค็ม คืออาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ โดยเกลือมีชื่อทางเคมีว่าโซเดียมคลอไรด์ เมื่อเราทานอาหารที่มีโซเดียมเข้าไปในร่างกาย ไตจะทำหน้าที่ขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ แต่เมื่อไตทำงานผิดปกติไม่สามารถขับโซเดียมได้ในปริมาณที่เหมาะสม ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดเพื่อช่วยให้ไตขับโซเดียมได้มากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะมีผลกระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอีกด้วย


การทานอาหารที่มีโซเดียมสูงนอกจากจะทำให้เป็นความดันโลหิตสูงแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย
โรคความดันโลหิตสูงถึงจะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ก็สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับปกติได้ ด้วยการดูแลตัวเองให้ถูกวิธี เลือกทานอาหารที่เหมาะสม


ความดันโลหิตสูงคือ 

เป็นภาวะที่ตรวจพบว่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงผิดปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจไม่แสดงอาการแต่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้


อาการของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่ในบางรายพบว่ามีอาการปวดหัว เวียนหัว มึนงง และเหนื่อยง่าย ซึ่งหากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ และไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อวัยวะสำคัญต่างๆ ถูกทำลายได้ เช่น หัวใจ สมอง ไต หลอดเลือด และเนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นและรูเล็กลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้อวัยวะทำงานผิดปกติ



7 อาหารโซเดียมสูง ที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยง

  1. เครื่องปรุงทุกชนิด เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ เครื่องปรุงสำเร็จรูป
  2. อาหารที่ใส่ผูรส ซุปก้อนปรุงรส
  3. เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง
  4. อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง 
  5. ขนมอบ เช่น คุกกี้ แครกเกอร์
  6. ผลิตภัณฑ์ผสมสารกันบูด
  7. อาหารกระป๋องต่างๆ

การดูแลตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความดันโลหิตสูง

  1. ลดทานอาหารรสชาติเค็มจัด
  2. รับประทานผัก ผลไม้
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  5. งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  6. ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
  7. ตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.