ความอ้วน จุดเริ่มต้นของสารพัดโรค
โรคอ้วน เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases, NCDs) เช่นเดียวกับ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่มีการสะสมไขมันมากผิดปกติในร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในด้านต่างๆ และเกิดสารพัดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นได้
สาเหตุของภาวะโรคอ้วน
สาเหตุสำคัญของภาวะโรคอ้วนนั้น เกิดจากการรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไขมันจากอาหารผัดทอด คาร์โบไฮเดรตจากอาหารประเภทแป้ง ของหวานหรือน้ำชงที่มีน้ำตาลและนมจำนวนมาก ซึ่งการรับแคลอรี่มากเกินไปกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคอ้วนเช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงโรคอ้วน
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น บริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ดื่มเครื่องดื่มที่แคลอรี่สูง ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย จึงทำให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกิดในร่างกาย
- อายุ โรคอ้วนสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นระบบบางอย่าง เช่น ฮอร์โมน การเผาผลาญและปริมาณของกล้ามเนื้อ จะเปลี่ยนไปและส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักตัว
- กรรมพันธุ์ ถ้าพ่อแม่มีภาวะโรคอ้วน ลูกก็อาจเป็นโรคอ้วนได้เช่นกัน
- ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้ไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นและนำไปสู่โรคอ้วนคือ
- การตั้งครรภ์
- การสูบบุหรี่
- การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ความเครียด
- การลดน้ำหนักไม่ถูกต้อง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน
- โรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยโรคอ้วน อินซูลินที่หลั่งจากตับอ่อนอาจออกฤทธิ์ไม่ดี และส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เนื้อเยื่อตอนปลายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยลง เบตาเซลล์ไม่ทำงาน ไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญ
- ไขมันในเลือดสูง หากร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงเกิดกว่าปกติ อาจส่งผลให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ อุดตัน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งสาเหตุมาจากการทานอาหารที่มีไขมันและคอเรสเตอรอล
- โรคความดันโลหิตสูง ไม่ว่าจะอ้วนหรือผอมก็สามารถเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ แต่ยิ่งชอบกินอาหารหวาน มัน เค็มเป็นประจำ และมีภาวะอ้วนร่วมด้วยก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
- โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยตรง เนื่องจากระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันสะสมในร่างกายสูงกว่าปกติ ส่งผลให้หลอดเลือดหนาขึ้น หลอดเลือดแดงจึงตีบแคบ ทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อย จนเกิดหลอดเลือดอุดตันและอาจพัฒนากลายเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
- ข้อเข่าเสื่อม เพราะข้อต่อมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และต้องแบกรับน้ำหนักร่างกาย จึงทำให้พบปัญหาที่ข้อเข่าได้บ่อย เช่น ปวดเข่า ข้อเข่าติด หรือการใช้งานเข่าได้ไม่เหมือนเดิม หากปล่อยไว้นาน อาจทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะนี้พบมากในคนอ้วนและผู้ที่มีโรคประจำตัวแทรกซ้อน เป็นการนอนหลับแบบไม่ปกติส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจนเรื้อรัง รวมถึงเกิดการหลั่งสารที่มีผลต่อการบีบตัวของหลอดเลือด ว่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
การป้องกัน
- ลดการทานอาหารประเภททอด ของมัน ขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน แป้งขัดขาว ซึ่งให้พลังงานสูงและกระตุ้นอินซูลิน
- เพิ่มการรับประทานผักใบเขียว ผลไม้ไม่หวาน อาหารที่มีกากใยสูง ธัญพืชไม่ขัดสี จะทำให้อิ่มนานขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ วันละประมาณ 20-30 นาที
- ในรายที่ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้ อาจต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ หรือใช้การผ่าตัดช่วย