การดูแลผู้ป่วยติดเตียง ในช่วงฤดูร้อน
ฤดูร้อนเป็นฤดูที่สร้างความร้อนให้กับร่างกายและทุกเพศทุกวัย สำหรับผู้สูงอายุปัญหาความร้อนนี้จะต้องดูแลเป็นพิเศษและยิ่งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ป่วยที่ติดเตียงจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้เกิดแผลกดทับ หรือเกิดโรคจากความอับชื้นได้ วันนี้แอดมินจึงมีวิธีการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในช่วงฤดูร้อนมาฝากกัน เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงช่วงฤดูร้อน
- จัดห้องให้สะอาด และมีอากาศถ่ายเทสะดวก เพราะช่วยให้ผู้ป่วยพักฟื้นและรักษาตัวได้ดีขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และควรจัดให้สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้สะดวกกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
- เปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงที่อากาศร้อน ในช่วงตอนกลางวันหากไม่มีเครื่องปรับอากาศให้เปิดหน้าต่าง พัดลม เพื่อระบายอากาศ และไม่ควรจ่อพัดลมใส่ผู้สูงอายุ เพราะจะทำให้เป็นหวัดง่ายขึ้น
- ระวังเรื่องแผลกดทับ ควรพลิกตัวทุกๆ 2 ชั่วโมง และเปลี่ยนท่านอนสลับกันไป เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับและความอับชื้น แต่การเปลี่ยนท่านอนให้กับผู้ป่วยจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง
- ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดตัวผู้สูงอายุ เพื่อระบายความร้อน
- ดูแลให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ เพราะการดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เนื้อเยื่อต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมีความชุ่มชื้น รวมถึงช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
- เตรียมยารักษาโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ หากมีเหตุฉุกเฉินให้รีบติดต่อสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร 1669
สิ่งที่ต้องระวังในการดูแลผู้ป่วย
- แผลกดทับ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ป่วยติดเตียง , ผู้ป่วยเคลื่อนไหวน้อย หรือผู้ป่วยที่ต้องนั่งหรือยืนเวลานาน
- การรับประทานอาหาร ควรทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ หากผู้ป่วยทานอาหารไม่ถูกวิธี หรือผู้ดูแลให้อาหารไม่ถูกต้อง อาจเกิดอันตรายและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
- ความสะอาด เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่งเพราะผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และเสี่ยงติดเชื้อง่ายกกว่าคนทั่วไป
- ปัญหาสุขภาพจิต หากผู้ป่วยมีสุขภาพจิตที่ไม่ดีสุขภาพร่างกายก็จะไม่ดีตามไปด้วย นอกจากนี้การติดเตียงเป็นนานๆ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า เกิดความเครียดและวิตกกังวลได้