Bangpakok Hospital

ท้องผูกเรื้อรัง ปล่อยไว้นานอันตราย

5 ก.พ. 2567


อาการท้องผูก คือการถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องใช้แรงเบ่งมาก อุจจาระจะแห้งแข็ง โดยทั่วไปเราถือว่าการถ่ายสัปดาห์หนึ่งน้อยกว่า 3 ครั้ง ถือว่าผิดปกติ คนที่นานๆ จะถ่ายครั้งหนึ่งแสดงว่าอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้นานๆ มักจะแข็ง แห้ง และมีกลิ่นเหม็น

ซึ่งปัญหาเรื่องการขับถ่ายไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอันตรายอย่างมะเร็งลำไส้ได้ หากละเลยไม่ใส่ใจก็อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้

ท้องผูกเกิดจากอะไรได้บ้าง

  1. รับประทานอาหารที่มีกาก เส้นใยน้อย โดยปกติคนเราควรรับประทานอาหารที่มีกากหรือเส้นใยประมาณ 20-25 กรัม/วัน แต่เนื่องจากอาหารในปัจจุบันได้รับการปรุงแต่งจนมีเส้นใยน้อยมาก คนส่วนใหญ่รับประทานข้าวขัดขาว ไม่รับประทานข้าวกล้อง
  1. ความเครียด เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น จีงทำให้ระบบการกินอยู่ หลับนอน และระบบการขับถ่ายแปรปรวนไปด้วย
  1. การกลั้นอุจจาระบ่อย หากต้องการทำให้สุขภาพดี ควรรับประทานอาหารเป็นเวลา ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะขับถ่ายตอนเช้า หลังจากร่างกายได้นอนหลับพักผ่อนมาเต็มที่ แต่เนื่องจากชีวิตที่ต้องเร่งรีบออกไปทำงานก็มักจะกลั้นอุจจาระเอาไว้ เมื่อทำบ่อยเข้าความรู้สึกอยากขับถ่ายก็จะหายไป อาการท้องผู้ก็จะเข้ามาแทน และกลไกของการขับถ่ายก็จะผิดปกติไป
  1. ไม่ออกกำลังกาย เมื่อร่างกายมีพลังงานน้อยลง ระบบย่อยและขับถ่ายก็ทำงานได้ไม่ดี เพราะลำไส้ของเรามีการเคลื่อนไหวตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย ใครเดินมากไม่อยู่นิ่งลำไส้ก็จะเคลื่อนตามทำให้ท้องไม่ผูก ตรงข้ามกับคนที่นั่งๆ นอนๆ หรือเคลื่อนไหวน้อย ลำไส้ก็จะนิ่งไม่ขยับ ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้
  1. รับประทานยาระบายเป็นประจำ ยาระบายแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
  • ชนิดที่ก่อความระคายเคืองกับลำไส้ใหญ่ ทำให้ขับมูกออกมาหล่อลื่นผนังทวารหนัก ทำให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนผ่านไป
  • ชนิดที่ก่อให้เกิดการบีบรัดตัวลำไส้ใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนก้อนอุจจาระ ในระยะแรกของการรับประทานยาระบาย อาจได้ผล แต่นานๆ ไปลำไส้โดนกระตุ้นเป็นประจำ ทำให้เกิดการชินและดื้อยาต้องใช้ยาจำนวนมากขึ้นและอาจไม่ได้ผล
  1. สาเหตุอื่นๆ
  • ชา กาแฟ ทำให้ท้องผูกได้
  • ยาเคลือบกระเพาะ สารประกอบอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์
  • รับประทานแคลเซียมมากเกินไป
  • ยาแก้ไอ โดยเฉพาะที่มีส่วนผสมของโคตินอยู่

ท้องผูกเรื้อรังอันตรายกว่าที่คิด

เมื่อเกิดอาการท้องผูกบ่อยๆ ทำให้อุจจาระมีการตกค้างจนแห้งแข็ง จนในเวลาที่อุจจาระต้องใช้แรงเบ่งมากถ่ายลำบากและอุจจาระไปเสียดสีกับผนังลำไส้ รวมไปถึงทวารหนักทำให้ถ่ายเป็นเลือดเกิดบาดแผลรอบๆ ทวารหนักซึ่งเป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร นอกจากนี้อาการท้องผูกเรื้อรังอาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ ลำไส้ใหญ่เกิดแผล และร้ายแรงไปกว่านั้น อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

 

การป้องกัน

  • ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นประมาณ 05.00-07.00 น. ซึ่งเป็นช่วงวเลาที่ดีที่สุด
  • ฝึกเบ่งถ่ายอุจจาระอย่างถูกวิธี โดยนั่งบนโถชักโครกแล้วโค้งตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย กรณีที่เท้าเหยียบไม่ถึงพื้นหรือเป็นเด็กควรมีที่วางเท้า เพื่อออกแรงแบ่งอุจจาระได้ดีขึ้น
  • สำหรับคนถ่ายยาก ควรใช้มือกดท้องซ้ายล่างขณะขับถ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อยตัวได้ดีขึ้น
  • ลดอาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ไม่กลั้นอุจจาระ ควรขับถ่ายทันทีเมื่อปวด
  • หากมีภาวะท้องผูก ควรรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกเพิ่ม เช่น นมเปรี้ยว ชาหมัก
  • การลุกขึ้นขยับร่างกายหลังรับประทานอาหาร เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้บีบตัว และกระเพาะอาหารบ่อยอาหารได้ดีขึ้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ




Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.