รู้ทันอันตรายจาก พลุ และประทัด ช่วงเทศกาล
เมื่อถึงงานเทศกาลทุกคนจะนึกถึงพลุและประทัดของยอดนิยมที่มักจุดกันเพื่อเฉลิมฉลองเทศต่างๆ เพราะชอบสีสันและประกายไฟที่ปรากฏขึ้น ดูสวยงามน่ามอง ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่จุดแล้วทำให้เกิดแสงสว่างและชนิดที่จุดแล้วทำให้เกิดเสียงดัง
แต่หากไม่รู้จักวิธีใช้ที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ทำให้ได้รับบาดเจ็บตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อันตรายจากพลุ ประทัด ส่งผลต่อสุขภาพดังนี้
- อันตรายจากการได้รับสารเคมี
- สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ
- สารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน เมื่อเผาไหม้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้เกิดอาการตาแดง ผิวหนังอักเสบ หายใจขัด เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ
- สารโปตัวเซียมไนเตรต ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และทางเดินหายใจ
- สารแบเรียมไนเตรต ทำให้เกิดการะคายเคืองต่อหู ตา จมูก และผิวหนัง ทำลายตับ ม้าม และเกิดอัมพาตที่แขน ขา ในบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้
- อันตรายจากความดังของเสียงระเบิด ก่อให้เกิดระดับเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบลเอ มีผลทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว และหากต้องได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวร
- อันตรายจากความร้อนและแรงระเบิด ทำให้ผิวหนังไหม้และทำให้บาดเจ็บและอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญ ซึ่งบางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตทำให้ตาบอดหรือนิ้วขาดได้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ด้วย
ข้อควรระมัดระวัง
- ก่อนจุดประทัดทุกครั้ง ต้องอ่านฉลาก คำแนะนำ วิธีการใช้
- ตรวจสอบประทัดให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ได้มาตรฐาน
- ควรเก็บประทัดให้ห่างจากประกายไฟ ความร้อน เช่น บุหรี่
- สถานที่จุดประทัด ต้องเป็นที่เปิดโล่ง ห่างไกล จากบ้านเรือน ถังแก๊ส
- ไม่ควรจุดประทัดครั้งละมากๆ
- ห้ามเด็กๆ จุดประทัดเองโดยเด็ดขาด
- ห้ามนำประทัดมาดัดแปลง เล่นผิดประเภท หรือนำมาทุบจนเกิดแรงระเบิดหรือแรงอัดเสียงดัง
- ควรห่างจากตัวประมาณ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน
- ห้ามจุดเล่นในมือ หรือส่วนใดในร่างกาย หรือยื่นหน้าและอวัยวะต่างๆ เข้าไปใกล้ประทัด
- ห้ามโยนประทัดใส่กลุ่มคนเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้
- ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นผ้าฝ้าย (ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสทีลีน เพราะอาจติดไฟง่าย)
- ควรเตรียมภาชนะที่บรรจุน้ำไว้ เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ดับชนวนที่จุดแล้วไม่ติด
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับบาดเจ็บ
- ถ้ามีแผลฉีกขาด ควรห้ามเลือดด้วยการใช้ผ้าสะอาดพันรอบแผลและกดแผลให้แน่นเพื่อชะลอการไหลเวียนของเลือดและนำส่งโรงพยาบาลทันที
- หากดวงตาได้รับบาดเจ็บควรหาอะไรป้องกันดวงตาและพบแพทย์ทันที
- หากมีอาการผิวพุพอง ระคายเคืองตามร่างกาย หูอื้อ หรือหูดับ ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาก่อนลุกลาม
- ห้ามใช้น้ำมัน โลชั่น ยาสีฟัน หรือสารเคมีอื่นๆ ทาบนแผลเด็ดขาด
- หากพบผู้ป่วยหมดสติ หรือเสียเลือดปริมาณมาก ควรรีบโทรเรียกรถพยาบาล หรือโทร 1669