ทำไมยิ่งอายุเพิ่มขึ้น ยิ่งต้องใส่ใจปอด
ปอดเป็นอวัยวะสำคัญต่อระบบหายใจ ทำหน้าที่รับก๊าซออกซิเจนจากอากาศเข้าสู่ร่างกาย เพื่อใช้ผลิตพลังงาน และกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อกรองของเสีย ทำให้ร่างกายมีชีวิตและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงของวัยจะมีผลกระทบต่อปอดทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย หรือระบบภายในร่างกาย ส่งผลให้ปอดทำได้งานไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็ต้องยิ่งใส่ใจเรื่องปอดมากขึ้นเช่นกัน
ความสำคัญของปอด
ปอด มีหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือ
- ทำหน้าที่รับก๊าซออกซิเจนจากอากาศเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งร่างกายต้องการออกซิเจนเพื่อใช้ในกระบวนการต่างๆ ภายในร่างกาย
- ทำหน้าที่ขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นของเสียที่ร่างกายผลิตขึ้นหลังจากร่างกายได้ใช้ออกซิเจนในกระบวนการต่างๆ
การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะที่มีผลต่อปอด
- การเปลี่ยนแปลงของกระดูก เมื่ออายุเพิ่มขึ้นกระดูกจะบางลงและอาจเปลี่ยนแปลงโครงร่างของกระดูกซี่โครง จะส่งผลให้กระดูกซี่โครงไม่สามารถขยายและหดตัวได้อย่างสะดวกในระหว่างการหายใจ กล้ามเนื้อที่รองรับการหายใจหรือกะบังลมจะอ่อนแอลง ความเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้หายใจเข้าหรือออกไม่ได้เท่าที่เคย
- การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปอด กล้ามเนื้อเยื่อและเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่อยูใกล้ทางเดินหายใจอาจสูญเสียความสามารถในการเปิดทางเดินหายใจได้อย่างเต็มที่ ทำให้ทางเดินหายใจปิดได้ง่าย อายุที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ถุงลมเสียรูปร่างหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปอด อาจทำให้ได้รับออกซิเจนน้อยเกินไปและกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง ทำให้หายใจลำบาก
- การเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง และร่างกายจะไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อในปอดและโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้ ปอดจะฟื้นตัวได้ช้าลงหลังจากสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนในอากาศที่จะก่ออันตรายต่อสุขภาพ
ปอดไม่แข็งแรงผู้สูงอายุจะมีภาวะเสี่ยงดังนี้
- การติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ
- หายใจถี่หรือติดขัด
- ระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การป้องกัน
- งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นอันตรายต่อปอดและทำให้ปอดเสื่อมเร็วขึ้น รวมถึงควรหลีกเลี่ยงแหล่งการเกิดของควันบุหรี่
- ออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5 หรือควันจากการเผาไหม้ ควรออกกำลังกายในบ้านหรือในอาการแทน
- สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ และควรเลือกหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนในครอบครัว ช่วยกันสังเกตเพื่อประเมินสุขภาพของผู้สูงอายุในครอบครัว หากไม่แน่ใจควรได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรค
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อประเมินความเสี่ยงโรค