Bangpakok Hospital

โรค NCDs จุดเริ่มต้น 5 โรคเรื้อรัง

27 ก.ค. 2566


โรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งกลุ่มโรคไม่ติดต่อเป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเรา โดยกลุ่มนี้จะค่อยๆ สะสมอาการมีการดำเนินของโรคไปอย่างช้าๆ มีอาการอย่างต่อเนื่องและเรื้อรังในที่สุด หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลาจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง

โรค NCDs คืออะไร

โรค NCDs หรือ non-communicable diseases คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ส่วนใหญ่แล้วโรคกลุ่มนี้จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ และสะสมอาการทีละนิดโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว ซึ่งหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีมักจะไม่ทราบและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา จนอาการรุนแรงขึ้นและกลายเป็นอาการเรื้อรังในที่สุด เช่น เกิดภาวะติดเตียงภายหลังการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก หรือมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นๆ หายๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

โรคที่อยู่ในกลุ่ม NCDs 

  • โรคเบาหวาน ภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ตาบอก ไตวาย แผลเรื้อรังที่เท้า
  • โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เกิดจากการเกาะของคราบไขมันภายในผนังหลอดเลือดส่งผลให้หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองไม่เพียงพอ นำไปสู่โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • โรคถุงลมโป่งพอง ถุงลมในปอดเกิดการอักเสบ จนทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซผิดปกติ มักเกิดจากการสูบบุหรี่
  • โรคมะเร็ง เกิดจากเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติ ที่พบมากคือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ความดันโลหิตสูง เป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติเกิดจากอายุที่มากขึ้น ขาดการออกกำลังกาย ทานอาหารรสเค็ม ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งขึ้น แล้วเกิดภาวะหลอดเลือดตีบ
  • โรคอ้วนลงพุง เกิดจากระบบเผาผลาญผิดปกติ รับประทานของหวานของมันของทอดมากเกินไปและขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้ไขมันสะสมบริเวณใต้ผิวหนังและในช่องท้อง ทำให้มีรอบเอวใหญ่เสี่ยงต่อการเกิดภาวถแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และนอนกรนได้

สาเหตุของโรค NCDs

  • บริโภคอาหารรสหวานจัด ไขมันสูง หรือเค็มจัด
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สูบบุหรี่
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ความเครียด
  • ซื้อยามารับประทานเอง

ความรุนแรงของโรค NCDs 

คนไทยป่วยด้วยโรค NCDs 14 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 340,000 ราย/ปี หรือ 75% ของการเสียชีวิตในแต่ละปีของคนไทยทั้งหมด คิดเป็นเสียชีวิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน และมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี


ลดความเสี่ยงได้ แค่ปรับพฤติกรรม

  • รับประทานอาการที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม เน้นการรับประทานผักและผลไม้ที่ไม่หวานจัด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวาน เค็ม หรืออาหารที่มีไขมันสูง
  • ลดการกินเค็ม ปริมาณโซเดียม < 2,500 mg/วัน หรือประมาณเกลือแกง 1 ช้อนชา
  • ลดการกินหวาน ปริมาณน้ำตาล < 20 g/วัน หรือประมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง ให้ได้สัปดาห์ละ 5 ครั้ง หรือรวม 150 นาที
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
  • ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ 
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.