Bangpakok Hospital

กินอย่างไร เมื่อมีคอเลสเตอรอลสูง

20 ก.ค. 2566


คอเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมากขึ้นและส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญอยู่กับโรคนี้ เพราะจะไม่มีอาการแสดงของโรคให้เห็นจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายและมีการเจาะเลือดตรวจเท่านั้น โดยทั่วไปมักเรียกภาวะที่ร่างกายมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงนี้ว่า ไขมันในเลือดสูง ซึ่งผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงมีโอกาสที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้

ทำความรู้จักกับคลอเลสเตอรอล

คอเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่พบเฉพาะในสัตว์แม้จะไม่ให้พลังงานแก่ร่างกายแต่มีประโยชน์ในการสร้างกรดน้ำดีสำหรับย่อยไขมันในอาหาร สร้างวิตามินดี และฮอร์โมนบางชนิดรวมทั้งเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ต่างๆ โดยส่วนหนึ่งของคอเลสเตอรอลนั้นร่างกายสร้างได้เองและอีกส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทาน

ชนิดของคอเลสเตอรอลในเลือด

- LDL (Low Density Lipoprotein) คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีหรือไขมันเลว

เป็นไขมันที่มีคอเลสเตอรอลสูง ตัวไขมันจะมีหน้าที่นำคอเลสเตอรอลไปสู่เซลล์ต่างๆ ที่ต้องการใช้งานแต่หากมีค่าสูงเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็จะส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัน หรือเปราะบางและนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตัน

- HDL (High Density Lipoprotein) คอเลสเตอรอลชนิดที่ดีหรือไขมันดี

เป็นไขมันดีที่ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลที่สะสมตามผนังหลอดเลือดและตามเนื้อเยื่อต่างๆ ไปทำลายที่ตับ และยังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันอีกด้วย และผู้ชายมีค่ามากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนผู้หญิงมีมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ระดับคอเลสเตอรอลที่เหมาะสม

  • ค่าคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) ที่ได้จากการตรวจเลือดควรมีค่าน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • LDL -cholesterol ควรมีค่าน้อยกว่า 100-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขึ้นกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล
  • HDL -cholesterol ควรมีค่ามากกว่า 40-60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

 

สาเหตุที่ทำให้คอเลสเตอรอลสูง

  • เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ หรืออาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง
  • เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและถ่ายทอดในครอบครัว
  • เกิดจากโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ไตวาย หรือยาบางชนิด

 

เลือกกินอย่างไรให้ห่างไกลคอเลสเตอรอลสูง

  1. ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลรวมกันเกิน 300 มิลลิกรัม/วัน และผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
  2. เลือกทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง ผักใบเขียว ข้าวกล้อง และธัญพืชต่างๆ
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่หวานหรือมัน เช่น เบเกอรี่ อาหารฟาสต์ฟู้ด เนย
  4. เน้นอาหารประเภทปลา เช่น ปลาทูน่า ปลาทู ปลาแซลมอน ควรรับประทานอย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.