Bangpakok Hospital

RSV ไวรัสตัวร้าย อันตรายใกล้ตัวลูกน้อย

29 มิ.ย. 2566


RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจโดยพบมากในเด็กเล็ก และมักจะพบในช่วงอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งเชื้อไวรัสนี้มีอาการคลายไข้หวัด แต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ และเป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ภายนอกร่างกาย มักติดต่อผ่านทางการ ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่งไม่ว่าจะเป็น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หากเป็นแล้วจะส่งผลให้เด็กมีอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบาก

สังเกตอาการได้อย่างไรว่าลูกเป็น RSV? และมีวิธีดูแลป้องกันอย่างไร?

ทำความรู้จักกับไวรัส RSV

RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุส่วนล่างของทางเดินหายใจคือ เกิดภาวะปอดอักเสบ สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากมักจะพบในเด็กเล็กมากกว่า และพบบ่อยการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

การติดต่อของ RSV 

การติดต่อของเชื้อ RSV สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกายเช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม หรือผู้ใหญ่บางคนที่มีเชื้อ RSV แม้จะไม่รุนแรงแต่หากอยู่ใกล้กับเด็กแล้วเด็กได้รับเชื้อก็อาจจะส่งผลให้เด็กติดเชื้อได้

 

อาการของการติดเชื้อ RSV กับ ไข้หวัดธรรมดา

อาการของผู้ป่วยเมื่อติดเชื้อ RSV มีความใกล้เคียงกับอาการของโรคไข้หวัดธรรมดาค่อนข้างมาก เช่น มีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ ตัวร้อน มีน้ำมูก ปวดศีรษะ  แต่สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV จะมีอาการเพิ่มเติมที่สังเกตได้คือ 

  • อาการไข้ขึ้นสูงขึ้นๆ ลงๆ และมีน้ำมูกใสๆ ไหลตลอด
  • ไอมากขึ้น และมีเสมหะปริมาณมาก
  • หายใจหอบเหนื่อย หน้าอกบุ๋ม อาจมีเสียงหายใจดังวี้ดๆ
  • เบื่ออาหาร 
  • มีอาการซึมลง หรืออารมณ์ไม่ดีผิดปกติ

 

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV จะใช้วิธีการรักษาตามอาการ ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง คืออาการเหมือนหวัด ก็สามารถดูแลรักษาได้ที่บ้าน คือ ให้ยาลดไข้ และเช็ดตัวเพื่อลดไข้

และในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้รักษาที่โรงพยาบาลเพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด โดยให้น้ำเกลือ ให้ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ เคาะปอด และอาจต้องช่วยดูดเสมหะ ถ้ามีอาการรุนแรงมากจะต้องได้รับออกซิเจนหรืออุปกรณ์ในการช่วยหายใจ

 

ภาวะแทรกซ้อน

  • โรคปอดบวม หรือโรคหลอดลมฝอยอักเสบ 
  • การติดเชื้อในหูชั้นกลาง
  • โรคหอบหืด
  • เกิดการติดเชื้อซ้ำ 

 

การป้องกัน

  • ล้างมือให้สะอาด เช่น ก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ 
  • ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด
  • หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่น และแยกแก้วน้ำส่วนตัว
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันเข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
  • สวมใสหน้ากากอนามัย และใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ จาม


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.