6 วิธีเลี่ยงโซเดียม ลดบวม ลดอ้วน ลดโรค
โซเดียมเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย ทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมสมดุลน้ำและของเหลวในร่างกาย รวมถึงระบบกล้ามเนื้อ ประสาท และระบบความดันโลหิต
แต่หากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไปจะส่งผลทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก อัมพาต อัมพฤกษ์
การลดโซเดียมไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพียงแต่คัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการรู้จักเลือกกินอาหารอย่างฉลาด ก็จะสามารถลดปริมาณโซเดียมลงได้
โซเดียมคืออะไร
โซเดียม คือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต โดยทั่วไปร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัม/วัน แต่ในชัวิตประจำวันของเราอาจบริโภคโซเดียมมากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา
แหล่งอาหารที่มีโซเดียมสูง
อาหารที่มีโซเดียมสูงและควรรับประทานน้อย ได้แก่
- เกลือ ซอสและเครื่องปรุงรสต่างๆ รวมถึงน้ำสลัด
- อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป และเนื้อแปรรูป เช่น แฮม เบคอน หมูยอ แหนม กุนเชียง
- ของตากแห้ง ของดอง และซุป
- อาหารที่ผ่านการอบ และขนมกรุบกรอบ เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ แคร็กเกอร์ บิสกิต
6 วิธีเลี่ยงโซเดียม
- หลีกเลี่ยงผงชูรสและผงปรุงรส เพราะถึงแม้จะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเกลือ แต่ผงชูรสไม่มีรสชาติเค็มเหมือนเกลือ จึงทำให้คนปรุงอาหารมักใส่ลงไปโดยไม่ยั้งมือ เพราะเชื่อว่าจะช่วยชูรสอาหารให้ดีขึ้น ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุให้ได้รับปริมาณโซเดียมที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นหากตั้งใจจะดูแลสุขภาพการงดผงชูรสในการปรุงอาหารจึงเป็นการหลีกเลี่ยงโซเดียมที่ดีอีกหนึ่งวิธี
- ลดความจัดจ้านของอาหาร เพราะอาหารยิ่งมีรสจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด หวานจัด ยิ่งต้องใส่เครื่องปรุงรสเค็มและผงชูรสมากขึ้นเพื่อให้อาหารครบรส หากชอบกินอาหารรสจัด ควรค่อยๆ ลดความจัดจ้านลง
- รับประทานอาหารสด หลีกเลี่ยงอาหารที่เก็บไว้นาน เพราะมีโอกาสได้รับโซเดียมเพิ่มโดยไม่จำเป็นจากสารกันบูด
- หลีกเลี่ยงการกินน้ำซุป หรือกินน้อยลง เพราะน้ำซุปมีปริมาณโซเดียมสูงมากจากเครื่องปรุงรสหรือซุปก้อน
- สังเกตปริมาณโซเดียมจากฉลากโภชนาการ และแบ่งกินให้พอเหมาะ เพราะการรู้จักสังเกตฉลากนอกจากจะทำให้รู้ว่าเราได้รับพลังงานจากอาหารมากน้อยเพียงใด ยังบอกถึงปริมาณโซเดียมที่ได้รับอีกด้วย ซึ่งอาหารมื้อหลักไม่ควรให้โซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัม/วัน ส่วนอาหารว่างไม่ควรมีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
- ใช้เกลือทดแทน อย่าวางใจปลอดโซเดียม เพราะเกลือทดแทนยังมีโซเดียมอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นให้ใส่แต่พอประมาณ