Bangpakok Hospital

ร่างกายขาดน้ำ อันตรายกว่าที่คิด

25 พ.ค. 2566


สภาพอากาศร้อนอย่างประเทศไทย เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ได้ง่าย ซึ่งเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอหรือสูญเสียน้ำในร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น เหงื่อออกมาก อาเจียน ท้องเสีย 

ภาวะขาดน้ำสามารถเกิดได้กับคนทุกวัย เฉพาะอย่างยิ่งในทารก เด็ก และผู้สูงอายุ รวมถึงคนที่มีไลฟ์สไตล์เร่งรีบ จึงทำให้มองข้ามเรื่องการดื่มน้ำ เมื่อดื่มน้ำน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการจึงเกิดภาวะขาดน้ำได้

วิธีเช็กง่ายๆว่าร่างกายขาดน้ำหรือไม่

  1. ปัสสาวะน้อยลงและสีเข้มกว่าปกติ สังเกตความถี่ในการปัสสาวะ ถ้าน้อยกว่า 4-6 ชั่วโมง หรือน้อยกว่า 4 ครั้ง/วัน อาจบ่งบอกได้ว่าร่างกายกำลังขาดน้ำ และสังเกตจากสีของปัสสาวะ ควรเป็นสีเหลืองใส หากสีเข้มมากกว่าปกติอาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะขาดน้ำ
  1. เช็กความยืดหยุ่นของผิวหนัง ให้ดึงหนังที่บริเวณหลังมือขึ้นมาแล้วปล่อย ถ้าผิวสามารถเด้งกลับมาอยู่ที่เดิมได้ภายใน 2-3 วินาที ถือว่าปกติ แต่ถ้าใช้เวลานานกว่านั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังมีภาวะขาดน้ำ
  1. เช็กการหมุนเวียนเลือดบริเวณปลายนิ้ว บีบบริเวณปลายนิ้วค้างไว้ 2-3 วินาที (เล็บจะกลายเป็นสีขาว) แล้วปล่อยออก เล็บจะค่อยๆ กลับมามีสีชมพูเหมือนเดิมภายใน 3 วินาที แต่หลังปล่อยแล้วเกิน 3 วินาที เล็บยังเป็นสีขาว ซึ่งบ่งบอกว่าเลือดมีความเข้มข้น ของเหลวในร่างกายไหลเวียนได้ไม่ดี อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายขาดน้ำได้
  1. สัญญาณอื่นๆ เช่น มีกลิ่นปาก ปวดศีรษะ หากร่างกายขาดน้ำนอกจากอ่อนเพลีย เวียนหัว ปัสสาวะสีเข้ม อาจมีสัญญาณอื่นๆ ที่สังเกตได้ เช่น มีกลิ่นปาก เนื่องจากเมื่อเกิดภาวะขาดน้ำจะทำให้ร่างกายผลิตน้ำลายซึ่งช่วยต้านแบคทีเรียลดลง ส่งผลให้มีกลิ่นปาก ซึ่งคล้ายกับช่วงเวลาตื่นนอนที่เรามักมีกลิ่นปากเพราะเวลากลางคืนร่างกายจะผลิตน้ำลายช้าลง ดังนั้นเมื่อมีอาการปากแห้งและมีกลิ่นปากมากปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะขาดน้ำ

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะขาดน้ำ

  • โรคลมแดด และตะคริวแดด
  • เกิดอาการช็อก เนื่องจากปริมาตรเลือดต่ำ ความดันโลหิตและออกซิเจนในร่างกายมีจำนวนลดต่ำลง สามารถเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • เกิดอาการชัก จากแร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุล กล้ามเนื้อมีการหดตัวและหมดสติได้
  • ปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ และไตมีความผิดปกติ เช่น ไตวาย ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ

  1. สร้างนิสัยการดื่มน้ำเปล่าตามช่วงเวลา ในผู้ใหญ่ควรดื่มน้ำให้ได้ประมาณ 2 ลิตร หรือประมาณ 8 แก้ว/วัน และอาจดื่มน้ำให้มากขึ้นเมื่อต้องสูญเสียน้ำเพิ่ม เช่น เล่นกีฬา มีไข้ ท้องเสีย
  1. กินผักผลไม้ที่มีน้ำเยอะ เพื่อให้ร่างกายรับน้ำได้มากขึ้น โดยเลือกกินผักและผลไม้ที่มีน้ำเยอะ รสชาติหวานน้อย เช่น แตงกวา มะเขือเทศ บวบ แตงโม มะละกอ คะน้า สตรอเบอร์รี่ เป็นต้น น้ำในผักผลไม้ช่วยทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากอากาศร้อน แถมผักผลไม้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดอาการอักเสบผิวที่ถูกแสงแดดเผา
  1. เลือกช่วงเวลาทำกิจกรรมนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาที่แดดจัด ตั้งแต่ 10.00-15.00 น. ควรอยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี เลี่ยงการอยู่ในที่อบอ้าวเป็นเวลานาน
  1. พักจิบน้ำระหว่างออกกำลังกาย เมื่อต้องออกกำลังกายกลางแจ้งหรือใช้ชีวิตกลางแจ้ง ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่อึดอัด ระบายอากาศได้ดี ไม่ควรหักโหมเกินไปเพราะทำให้ร่างกายระบายความร้อนทางผิวหนังอย่างรวดเร็ว แและดื่มน้ำตามคำแนะนำดังนี้
  • ก่อนออกกำลังกาย 30 นาที ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว
  • ขณะที่กำลังออกกำลังกาย หมั่นจิบน้ำทุกๆ 30 นาที ประมาณ 1.25 แก้ว หรือ น้ำดื่ม 1 ขวดเล็ก
  • หลังออกกำลังกาย อาจจะเลือกดื่มน้ำเย็น ที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่นและอุณหภูมิลดลงเป็นปกติโดยเร็ว เพราะเมื่อเราอยู่ในสถานที่อุณหภูมิสูง หรืออากาศร้อนอบอ้าวมากกว่าปกติ การดื่มน้ำเย็นจะช่วยป้องกันตัวเราจากการเป็นลมแดดได้
  1. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/ลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน จะทำให้เลือดขยายตัว ส่งผลให้กลไกในร่างกายจะขับน้ำออกเร็วขึ้น ร่างกายจึงมีเหงื่อออกมากกว่าปกติและปัสสาวะบ่อยขึ้น จนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้





Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.