โซเชียลทำพิษ 5 โรคฮิต ของคนติดจอ
“ยุคสังคมก้มหน้า” หรือนิสัยก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลานั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เราขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ยังนำมาซึ่งโรคต่างๆ ได้อีกด้วย
โรคยอดฮิตคนติดจอ
- โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก
วารสารการแพทย์กุมารเวชศาสตร์ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้และพบว่า คนที่ถูกเพื่อนๆ ปฏิเสธหรือเป็นที่รังเกียจในโลกเฟซบุ๊กจะเป็นอันตรายมากกว่าการถูกปฏิเสธในโลกแห่งความจริง และหลายรายอาจมีปัญหาซึมเศร้าตามมา
วิธีการหลีกหนีอาการนี้คือ ลดการเล่นเฟซบุ๊กลง ทั้งอ่านเรื่องคนอื่น และโพสต์เรื่องตัวเอง จะได้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น
- โรคละเมอ Chat
อาการนี้ก็คือ ถึงแม้จะนอนแล้วแต่ก็ยังลุกขึ้นมาพิมพ์เหมือนกับคนละเมอนั่นเอง สาเหตุก็มาจากพฤติกรรมการติดสมาร์ตโฟน ทำให้สมองยึดติดกับโทรศัพท์ แม้เวลานอนหากมีข้อความเข้ามาสมองก็จะปลุกร่างกายที่หลับให้อยู่ในสภาวะละเมอ แล้วกดส่งข้อความไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราอาจไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำ
- โรควุ้นตาเสื่อม
ปกติเราใช้ดวงตาหนักอยู่แล้ว ยิ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเพ่งข้อความในจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ก็ยิ่งทำให้ดวงตาทำงานหนักคูณสอง อาการเห็นภาพเป็นคราบดำๆ คล้ายหยากไย่ ทำให้ปวดตา และส่งผลให้มีปัญหาด้านสายตาในที่สุด
- โนโมโฟเบีย
ชื่อนี้มาจากคำว่า "no-mobile-phone phobia" ก็คือโรคกลัวไม่มีมือถือใช้ เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตกกังวล เพราะมีอาการวิตกกังวลหรือกลัวเกินกว่าปกติ มักจะมีอาการ เครียด วิตกกังวล ตัวสั่น หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ และมักจะหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาเช็คอยู่ตลอดเวลา ติดการส่งข้อความและโพสต์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์ เพราะติดโซเชียลอย่างหนัก
- โรคสมาร์ตโฟนเฟซ
หรือโรคใบหน้าสมาร์ตโฟน เกิดจากการที่ก้มลงมองหน้าจอ หรือจ้องสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อคอเกิดอาการเกร็งและไปเพิ่มแรงกดบริเวณแก้ม เมื่อแก้มถูกแรงกดนานๆ เข้าก็จะทำให้เส้นใยอีลาสติกบนใบหน้ายืด จนแก้มบริเวณกรามย้อยลงมา และกล้ามเนื้อบริเวณมุมปากก็จะตกไปทางคางด้วย จนในหน้าอาจดูผิดรูปไปจากเดิม