แดดร้อนจัด ก็ทำให้เป็นหวัดได้
อากาศร้อนแบบนี้นอกจากจะทำให้ใครหลายๆ คนหงุดหงิดแล้ว ยังอาจทำให้ป่วยได้อีกด้วย หนึ่งในโรคที่มาพร้อมอากาศร้อน อย่างโรคไข้หวัดแดด เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ประกอบกับต้องเผชิญอากาศที่ร้อนจัด
ไข้หวัดแดดคืออะไร
ไข้หวัดแดด หรือ Summer flu / Summer Cold เป็นการที่ร่างกายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ พร้อมๆ กับที่ต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัด หรือ อุณภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศไม่ทัน ทำให้ร่างกายสะสมความร้อนไว้ภายใน และด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนชื้น เชื้อโรคจึงมีชีวิตอยู่ได้นานยิ่งขึ้น
ผู้ที่เสี่ยงไข้หวัดแดด
- คนที่ต้องทำงานการแจ้ง เช่น กรรมกร , ผู้รับจ้าง/รับเหมา , เกษตรกร , นักกีฬา
- เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หรือ ความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รวมทั้งผู้ที่ต้องเข้าออกบ่อยๆ ระหว่างสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศและสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนจัด
อาการแบบไหนเข้าข่ายหวัดแดด
- มีไข้ต่ำๆ ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส
- รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว
- ปวดหัวเป็นระยะๆ บางคนอาจมีอาการปวดหัวไมเกรน
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
- อ่อนเพลีย
- ริมฝีปากแห้ง ในปากแห้ง คอแห้ง แสบคอ
- รู้สึกขมในปาก รสชาติอาหารเปลี่ยนไป บางคนมีอาการเบื่ออาหาร
- บางคนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ตาแห้ง ตาแดง ปวดกระบอกตา
หลายครั้งผู้ที่เป็นหวัดมักจะเกิดความสับสนระหว่าง หวัดแดด กับ ไข้หวัด เพราะอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ในความจริงแล้ว ไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ร่วมด้วย ส่วนหวัดแดดจะไม่ค่อยมีน้ำมูก หรือมีน้ำมูกใสๆ เพียงเล็กน้อย ไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะรู้สึก ขมปาก คอแห้ง และแสบคอแทน
ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้ป่วยหน้าร้อน
- หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรง หรือที่อากาศร้อนจัด หากจำเป็นควรใส่เสื้อคลุมกันแดดหรือพกร่มไปด้วย
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ผู้คนแออัด
- สวมใส่เสื้อผ้าสีที่อ่อน ระบายอากาศได้ดี
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซีสูงเพื่อป้องกันหวัด
- หากต้องเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควรนั่งพักในที่ร่มที่อากาศถ่ายเทสะดวกสักพัก ก่อนเข้าสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับอุณภูมิที่แตกต่างได้ทัน