Bangpakok Hospital

ไซยาไนด์ (Cyanide) สารไร้สี ออกฤทธิ์อันตราย

26 เม.ย. 2566



ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนเป็นอันตรายถึงชีวิต และมักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร ไซต์ยาไนด์ สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยในพืชบางชนิด อย่างอัลมอนด์ แอปเปิ้ล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ ไซยาไนด์ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและการบวนการเผาผลาญ จะไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

อันตรายจากไซยาไนด์

อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณที่สัมผัส อย่างผิวหนังหรือดวงตา ร่างกายอ่อนแอ ปวดศีรษะ ใจสั่น หมดสติ ชัก โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับชนิดของไซยาไนด์ ปริมาณ และระยะเวลาในการได้รับ

ผลกระทบจากการรับไซยาไนด์ แบ่งได้ 2 ประเภท

  • ภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์แบบเฉียบพลัน พบได้ยาก หากเกิดขึ้นทันทีอาจทำให้เกิดอาการหายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ
  • ภาวะพิษจากไซยาไนด์แบบเรื้อรัง  คือการรับในปริมาณเล็กน้อยแต่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง อาจมีอาการอื่นๆ ตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจเต้นช้า เต้นผิดจังหวัด ผิวหนัง ใบหน้า แขนและขาเป็นสีม่วง และเสียชีวิตในที่สุด

หากสัมผัสไซยาไนด์ควรรับมืออย่างไร

  • สัมผัสทางผิวหนัง ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดและนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนไม่สัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสเสื้อผ้าโดยตรงเพราะอาจได้รับสารพิษด้วย จากนั้นทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนส่งโรงพยาบาล
  • การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอาการที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรรีบออกจากพื้นที่บริเวณนั้น ถ้าไม่สามารถออกได้ควรก้มต่ำลงพื้น หากผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการรับพิษ
  • การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก และใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 นาที และรีบไปโรงพยาบาล

วิธีการหลีกเลี่ยงและลดโอกาศการสัมผัสกับไซยาไนด์

  • งดสูบบุหรี่
  • เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
  • ผู้ที่ทำงานกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลงหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสสัมผัสและการสูดดมลงด้วย
  • ติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจากไซยาไนด์ อาจมาในรูปแบบควันได้
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูง ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.