ปวด ชา ข้อมือ เสี่ยงเส้นประสาทถูกกดทับ
ในชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องใช้มือในการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้มือทำงานหนักเกินไป จนไม่ได้สังเกตอาการเตือน ที่เป็นสัญญาณเริ่มแรกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งมารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่อาการเริ่มรุนแรงไปแล้ว เช่น ปวดข้อมือ มือชา มืออ่อนแรง
ซึ่งการใช้มือกับการทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำกันเป็นเวลานาน จะมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคนี้กันมากขึ้น นั่นก็คือโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรือ พังผิดกดทับเส้นประสาทข้อมือ
โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ โรคนี้มีความน่าสนใจอย่างไร มาติดตามกันเลยดีกว่าค่ะ
ทำความรู้จักกับโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรือพังผิดกดทับเส้นประสาทข้อมือ เป็นกลุ่มโรคที่พบมากในผู้ที่ใช้มือทำงานมากๆ เช่น คนที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ กลุ่มแม่บ้าน โดยโรคนี้เกิดจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ โดยเส้นประสาทนี้จะทำหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง และควบคุมกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ ถ้าโพรงของเส้นประสาทนี้ตีบแคบ ก็จะทำให้เกิดการทับเส้นประสาทส่งผลให้เกิดอาการปวดชาบริเวณนิ้วหัวแม่มือถึงนิ้วนาง
โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือพบได้บ่อยแค่ไหน
ในปัจจุบันพบได้บ่อยมากขึ้น และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องด้วยตามธรรมชาติแล้วโพรงของเส้นประสาทข้อมือของผู้หญิงมักจะแคบกว่าในผู้ชายจึงมักจะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่า และในช่วงวัยที่พบโรคนี้บ่อยจะอยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการชา เหน็บหรือปวดแสบเหมือนถูกเข็มทิ่มบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง มีอาการปวดบริเวณมือ บางรายอาจมีอาการนิ้วหัวแม่มือ่อนแรง ซึ่งทำให้หยิบจับสิ่งของล่าช้า กำมือได้แม่แน่น หยิบจับอะไรก็หล่นจากมือทันที ส่วนมากจะปวดมากหรือมีอาการมากในช่วงเวลากลางคืน
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้มือและข้อมือหนักๆ หากต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ ควรจัดท่าทางการวางมือให้ถูกต้อง วางแป้นพิมพ์ในระดับเดียวกับข้อศอกเล็กน้อย และหลีกเลี่ยงการแอ่นข้อมือขึ้นหรือลงจนสุด
- ระหว่างการทำงาน ควรหยุดพัก ยืด และหมุนมือกับข้อมืออยู่เสมอ
- ไม่นอนทับมือ หากสวมอุปกรณ์พยุงข้อมือ ควรสวมอุปกรณ์พยุงที่ไม่คับจนเกินไปขณะนอนหลับ
- หากอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็น ควรสวมถุงมือเพื่อรักษาความอบอุ่นของมือ จะช่วยลดอาการปวดตึง
- รักษาโรคที่เป็นสาเหตุของการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ เช่น โรคเบาหวาน โรครูมาตอยด์ โรคอ้วน โรคเก๊าท์