Bangpakok Hospital

ต้อหิน ปล่อยไว้ไม่รักษา อาจสูญเสียการมองเห็น

23 ธ.ค. 2565


ต้อหิน เป็นภัยเงียบที่คุกคามการมองเห็น เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เห็นความผิดปกติจนโรคได้ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย

ต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการทำลายขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำกระแสการมองเห็นไปสู่สมอง เมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา เมื่อเป็นมากๆจะสูญเสียการมองเห็นในที่สุด ซึ่งเป็นการสูญเสียถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้

อาการและชนิดของโรคต้อหิน

แบ่งเป็น 3 ชนิดได้แก่

  1. ต้อหินปฐมภูมิ (Primary Glaucoma) ได้แก่ 

- ชนิดมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma) เป็นต้อหินที่พบได้บ่อยที่สุด แบ่งออกเป็นชนิดความดันตาปกติ และความดันสูง ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว มองเห็นได้แคบลง หรือมีความสามารถในการปรับการมองเห็นในที่สว่างและมืดลดลง

- ชนิดมุมปิด  (Primary Angle-Closure Glaucoma) พบมากในคนเอเชีย แบ่งเป็น 1. ต้อหินชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นรัศมีรอบดวงไฟ อาจปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนได้ จัดว่าเป็นภาวะเร่งด่วนมราต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที 2. ต้อหินชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หรือมีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะเล็กน้อยเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลาเป็นเดือน หรือเป็นปี

 

  1. ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary Glaucoma) 

เกิดจากความผิดปกติอย่างอื่นของดวงตา เช่น อุบัติเหตุทางตา เบาหวานขึ้นจอตา ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตา และการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์

 

  1. ต้อหินแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma) 

เกิดจากความผิดปกติของดวงตาตั้งแต่ในครรภ์ ทำให้การระบายน้ำในลูกตาผิดปกติ พบในเด็กแรกคลอด - 3 ปี  ผู้ป่วยมักมีอาการกลัวแสง เปลือกตากระตุก มีน้ำตาไหลเอ่อ 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหิน

  • ความดันลูกตาสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวที่สามารถควบคุมได้ โดยพบว่าความดันลูกตายิ่งสูง จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นต้อหินและทำให้การดำเนินการโรคเร็วขึ้น
  • อายุ จะเพิ่มโอกาสการเป็นต้อหิน โดยพบว่าต้อหินปฐมภูมิมุมเปิดพบมากในคนอายุมากกว่า 40 ปี
  • โรคประจำตัว เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อการไหลเวียนเลือด อาจทำให้มีความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดที่ขั้นประสาทตา ทำให้มีการตายของเซลล์และเส้นใยประสาทตาได้ง่ายขึ้น จนเกิดโรคต้อหินได้
  • ประวัติครอบครัว หากคนในครอบครัวเป็นต้อหิน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นต้อหินได้ 4-5 เท่า
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ทั้งชนิดหยอด และรับประทาน หรือฉีด หากใช้เป็นระยะเวลานานจะทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมากยิ่งขึ้น
  • การได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดทางตา
  • โรคตาบางชนิด เช่น เบาหวานขึ้นตา การอักเสบภายในลูกตา โรคเม็ดสีกระจายในตาผิดปกติ หรือต้อกระจกบางชนิด
  • สายตาสั้นมากหรือยาวมาก โดยพบว่าคนสายตาสั้นมากๆ จะมีความเสี่ยงในการเกิดต้อหินมุมเปิดมากขึ้น และคนสายตามากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดต้อหินมุมปิดมากยิ่งขึ้น

 

การป้องกัน

ต้อหินเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แนะนำว่าสำหรับคนที่อายุคน 40 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา ทุก 2-4 ปี และสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ควรได้รับการตรวจจอประสาทตา ตรวจต้อหิน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคต้อหิน หรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา อาจต้องเข้ารับการตรวจบ่อยขึ้น

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.