บอกลาแผลเป็นคีลอยด์ เรียกความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง
แผลคีลอยด์ เป็นปัญหากวนใจสำหรับใครหลายๆ คน ถึงแม้ว่าจะไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็มีผลต่อบุคลิกภาพและความสวยงาม ทำให้เราเสียความมั่นใจในตัวเอง
ซึ่งคีลอยด์ เป็นก้อนเนื้องอกที่เกิดจากแผลเป็นชนิดหนึ่ง มีลักษณะนูนและขยายใหญ่ออกนอกขอบเขตเดิมของบาดแผล บางครั้งอาจมีอาการคันหรือเจ็บที่ก้อนได้ มักพบที่บริเวณติ่งหู ไหล่ แก้มและอก
โดยทั่วไปแล้วแผลเป็นจะสามารถป้องกันได้ หากเรารู้จักวิธีการดูแลรักษาภายหลังจากที่เป็นแผลใหม่ๆ ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้แผลเป็นนูนขึ้น หรือเป็นคีลอยด์ได้ในอนาคต
สาเหตุของแผลคีลอยด์
โดยทั่วไปผิวหนังจะมีกระบวนการซ่อมแซมบาดแผลตามธรรมชาติ ซึ่งสาเหตุของการเกิดแผลคีลอยด์นั้น มาจากความผิดปกติของกระบวนการซ่อมแซมของบาดแผลโดยพบการเพิ่มขึ้นของเซลล์ที่สร้างคอลลาเจน จำนวนเส้นเลือดที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงมีการสะสมของคอลลาเจนชนิดที่มีความผิดปกติ จนทำให้มีลักษณะของก้อนคีลอยด์ในที่สุด
แผลเป็นคีลอยด์มักเกิดกับใคร
- ผู้ที่มีสีผิวเข้ม
- ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลคีลอยด์ หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นแผลคีลอยด์
อาการของแผลเป็นคีลอยด์
- เป็นก้อนนูนขึ้นจากผิวหนัง มักเกิดบริเวณติ่งหู หัวไหล่ แก้มหรือหน้าอก
- อาจรู้สึกระคายเคืองบริเวณแผลเป็น
- อาจรู้สึกคันหรือแสบร้อนได้
การรักษาแผลเป็นคีลอยด์
- การฉีดยาบริเวณแผลเป็นเพื่อให้แผลเป็นราบลง ตัวยาที่ใช้มีหลายตัวโดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่ายาตัวไหนเหมาะกับผู้ป่วย
- การผ่าตัดเอาแผลเป็นคีลอยด์ออก หลังจากการผ่าตัดแพทย์จะฉีดยาเข้าไปที่บริเวณแผลเป็นเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ แต่จะใช้ได้ผลดีเฉพาะแผลคีลอยด์บางตำแหน่งเท่านั้น
- การใช้แผ่นซิลิโคนแปะรอยแผลเป็นเพื่อลดอาการอักเสบและคัน
- การจี้ด้วยความเย็น
- การรักษาด้วยเลเซอร์
- การทาครีมหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นเพื่อให้รอยแผลเป็นนิ่มลง
การป้องกันคีลอยด์
นอกจากการป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บของผิวหนัง ทั้งงดสัก งดแกะเกาผิวหนังแล้ว แต่หลายครั้งก็ไม่สามารถเลี่ยงได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญการดูแลแผลเมื่อเกิดบาดแผล เป็นวิธีป้องกันการเกิดแผลเป็นคีลอยด์ได้ดีที่สุด สามารถทำได้ดังนี้
- ทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำเกลือ
- ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
- พยายามทำให้แผลแห้ง ไม่เปียกน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก
- ห้ามแกะ แคะ เกาแผล
- สำหรับแผลตุ่มน้ำ ห้ามเจาะตุ่มน้ำ ควรปล่อยให้แผลหายเอง
- หลังจากแผลหายดีแล้ว ให้เริ่มใช้เจลซิลิโคนทาแผล