ไขมันพอกตับ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นได้
ไขมันพอกตับ ไม่ได้มาจากแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่มาจากน้ำตาลฟรุกโตส และน้ำตาลอุสาหกรรม ซึ่งมีอยู่ในอาหารมากกว่า 70% อันตรายมากกว่าการดื่มแอลกอฮอล์เสียอีก
ในปัจจุบันภาวะไขมันพอกตับกลายเป็นภัยเงียบที่อันตราย เนื่องจากโรคนี้มักไม่ทำให้เกิดการเจ็บปวด หากมีอาการก็อาจเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงบ่งบอกถึงโรคนี้ได้
ดังนั้นเราควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ และเช็กอาการที่พอจะสังเกตได้ว่ามีภาวะไขมันพอกตับ พร้อมเรียนรู้วิธีป้องกันไขมันป้องกันด้วยตัวเองกันค่ะ
สาเหตุการเกิดโรค
แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- จากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับเพศ ประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์
- จากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น
- กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสูงของร่างกาย เช่น โรคอ้วน (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25) โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง
- การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ เช่น แป้ง น้ำตาล ไขมัน
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาต้านไวรัสบางชนิด ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่มต้านฮอร์โมน
ไขมันพอกตับแบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้
- ระยะแรก เป็นระยะที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบหรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ
- ระยะที่สอง เป็นระยะที่เริ่มมีการอักเสบของตับ ในระยะนี้หากไม่ควบคุมดูแลให้ดีและปล่อยให้อักเสบไปเรื่อยๆ เกินกว่า 6 เดือน อาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
- ระยะที่สาม การอักเสบรุนแรง ก่อให้เกิดพังผืดในตับ เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลง
- ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ตับแข็งและอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้
อาการ
โดยทั่วไปโรคไขมันพอกตับไม่ทำให้เกิดอาการทางร่างกาย หรือหากมีอาการก็อาจเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงมากพอที่จะบ่งบอกโรคได้ เช่น อ้วนลงพุง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ รู้สึกเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา โดยส่วนใหญ่การตรวจพบโรคไขมันพอกตับ มักจะพบเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการเจาะเลือดตรวจสุขภาพ
แนวทางการป้องกัน
- ลดน้ำหนักโดยการควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย ไอศกรีม เค้ก ชีส กะทิ อาหารทะเล ไข่แดง หลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละ 30 นาที
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ