Bangpakok Hospital

DKA ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ควรมองข้าม

17 พ.ย. 2565


ภาวะ DKA (Diabetic Ketoacidosis) หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรด เป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน 

โดยจะเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้ร่างกายสร้างคีโตน ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดออกมาในกระเแสเลือดมาก ทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

เลือดเป็นกรดเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคเบาหวาน ที่จำเป็นต้องเข้ารักษาอย่างเร่งด่วน ดังนั้นผู้ป่วยและผู้ดูแลควรทำความเข้าใจถึงภาวะนี้ เพื่อเตรียมตัวและหาแนวทางป้องกันที่เหมาะสมได้

สาเหตุการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด

เมื่อร่างกายขาดอินซูลินจะทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลในเลือดมาเป็นพลังงานได้ ร่างกายจึงปล่อยฮอร์โมนที่ช่วยในการเผาผลาญไขมันเพื่อใช้ทดแทนน้ำตาล โดยในการเผาผลาญพลังงานนี้จะทำให้เกิดการสร้างกรดคีโตนขึ้นมา และหากคีโตนถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดการสะสมในเลือด สารเคมีในเลือดจึงเสียสมดุลและกระทบต่อระบบการทำงานในร่างกาย

ภาวะเลือดเป็นกรด อาจเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุต่อไปนี้

  • เป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มักเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้สูง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ในบางกรณีอาจเกิดได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เช่นกัน แต่อาจพบได้น้อยกว่า ทั้งนี้อาจพบว่าภาวะเลือดเป็นกรด เป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงอาการของโรคเบาหวานในผู้ป่วยบางรายได้
  • การติดเชื้อหรืออาการป่วย เช่น ไข้หวัด ปอดบวม หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โดยทั่วไปร่างกายจะสร้างฮอร์โมนต่างๆ เพิ่มขึ้น อย่างอะดรีนาลีนหรือคอร์ติซอล โดยฮอร์โมนเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้
  • การขาดอินซูลินในผู้ป่วย การขาดการรักษาหรือการได้รับการรักษาด้วยอินซูลินโดยไม่เพียงพอก็อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงภาวะเลือดเป็นกรด
  • ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 19 ปี
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ที่มีอาการป่วย 
  • ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างมีประจำเดือนหรือหญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีประวัติการได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจ
  • ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัด
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะโคเคน
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์และยาขับปัสสาวะบางชนิด

ภาวะแทรกซ้อน

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) การรักษาด้วยอินซูลินทำให้เซลล์ได้รับน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง หากน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็วอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • ภาวะโพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia) การรักษาด้วยอินซูลินของเหลวทดแทน อาจทำให้ระดับโพแทสเซียมต่ำลง ส่งผลให้การทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาททำงานผิดปกติ
  • ภาวะสมองบวม (Cerebral Edema) การปรับระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็วอาจทำให้สมองบวมได้ มักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มักพบในเด็ก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

ดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เลือดเป็นกรด

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในระดับปกติเสมอ หากไม่สามารถควบคุมได้ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด
  • หมั่นสังเกตค่าตีโตนเป็นประจำ หรือตรวจสอบเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ถ้าพบค่าคีโตน หรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลิน ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ไม่ควรงดอาหาร แต่ควรเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และโภชนาการ
  • หากสังเกตว่ามีสัญญาณผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมาก อาเจียน มีอาการเหม่อลอยให้ปรึกษาแพทย์ทันที
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.