Bangpakok Hospital

เช็ก 9 อาการ เสี่ยงเป็นเบาหวานหรือไม่?

14 พ.ย. 2565


โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus: DM) เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้การดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติ

ซึ่งในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยเบาหวานในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าผู้ป่วยรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3 แสนคน และคนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เริ่มป่วยเป็นโรคเบาหวานก็มีจำนวนมากขึ้น

โรคเบาหวานหากปล่อยไว้นานจะทำให้อวัยวะต่างๆ เสื่อม ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวานหากมีความเสี่ยง เพื่อลดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้


โรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิด ได้แก่ 

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ส่วนใหญ่พบในเด็กจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาอินซูลิน
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน ส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวานร่วมด้วย ในระยะแรกสามารถรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ถ้าเป็นนานๆ บางรายจำเป็นต้องใช้ยาอินซูลิน
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ วินิจฉัยขณะตั้งครรภ์ และภาวะนี้มักหายไปหลังจากคลอด
  • โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคที่ความผิดปกติของต่อไร้ท่อบางชนิด หรือการรับประทานยาที่มีสารเตียรอยด์

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 

  • อายุ 35 ปีขึ้นไป
  • มีโรคอ้วน และมีพ่อ แม่ พี่ น้องเป็นโรคเบาหวาน
  • มีโรคความดันโลหิตสูง 
  • ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ (ระดับไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมีระดับคอเลสเตอรอล เอสดีแอล < 35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
  • มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • เคยได้รับการตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ เช่น ระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือระดับน้ำตาลสะสม 5.7-6.4 %
  • มีโรคหัวใจและหลอดเลือด

อาการเริ่มแรกของโรคเบาหวาน

  • ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
  • ปวดหัว
  • น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • คอแห้ง กระหายน้ำบ่อย
  • รู้สึกชาบริเวณปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า
  • หิวบ่อย กินจุกกว่าเดิม
  • วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการตาพล่ามัว 

โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน 

  • โรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดใหญ่ เกิดการตีบแคบของหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันได้ง่าย
  • โรคหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
  • อัมพฤกษ์และอัมพาตจากหลอดเลือดสมองอุดตัน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • ปวดขาเวลาเกินนานๆ จากหลอดเลือดที่ขาตีบ หรือเกิดแผลจากการขาดเลือด
  • โรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดฝอย
  • โรคแทรกซ้อนทางตา เช่น ตาพล่ามัว เบาหวานขึ้นตา
  • โรคแทรกซ้อนทางไต ทำให้ไตเสื่อม ไตวาย
  • โรคแรกซ้อนทางระบบประสาท คือ อาการชาตามเท้าและมือ

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเบาหวาน

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับคนปกติให้มากที่สุด
  • ควบคุมอาหาร ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ออกกำลังกาย
  • พบแพทย์ตามกำหนด เพื่อตรวจร่างกายและประเมินอาการเบาหวาน และหาทางปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาโรคเบาหวานให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

การป้องกันโรคเบาหวาน

สิ่งสำคัญของการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิดคือ คอยหมั่นระวังระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลให้อยู่เกณฑ์ปกติ เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสารอาหารครบถ้วน มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ รวมถึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.