Bangpakok Hospital

โรคฉี่หนู อันตรายที่มาพร้อมกับฝน

16 ก.ย. 2565

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เกิดจาก การลุยน้ำ หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางแผล หรือผิวหนังอ่อนนุ่ม จากการแช่น้ำนาน และเป็นโรคที่ระบาดมากในฤดูฝน เนื่องจากน้ำฝนจะชะล้างเอาเชื้อโรคต่างๆไหลมารวมกันอยู่ในบริเวณที่น้ำขัง 

ซึ่งโรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อก่อโรคฉี่หนู เป็นแบคทีเรียอยู่ในปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู หมู สุนัข วัว หรือแม้แต่กระทั่วสัตว์ป่าต่างๆ

หากมีประวัติการเดินลุยน้ำ และมีอาการปวดศรีษะ ไข้ขึ้นสูง ปวดตามกล้ามเนื้อ ควรรีบพบแพทย์ทันที หากปล่อยไว้นานอาการอาจมากถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการของโรคฉี่หนู

ผู้ติดเชื้อจากโรคฉี่หนูส่วนใหญ่จะมีระยะฟักตัวแต่ละคนจะไม่เท่ากัน บางรายมีอาการเร็วภายใน 2 วัน บางหลายอาจหลายสัปดาห์หรือถึง 1 เดือน ส่วนใหญ่ผู้ที่รับเชื้อจะไม่มีอาการหรือมีเพียงเล็กน้อย จะมีเพียง 10-15% ที่จะมีอาการรุนแรง และมักมีอาการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 

ระยะแรก

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดศีรษะ มีไข้สูง หนาวสั่น 
  • ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
  • เจ็บช่องท้อง
  • ตาแดงหรือระคายเคืองที่ตา
  • มีผื่นขึ้น
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องเสีย

 

ระยะที่สอง

  • มือ เท้า หรือข้อเท้าบวม
  • เจ็บหน้าอก
  • ตัวเหลืองตาเหลือง หรือภาวะดีซ่าน
  • หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • ภาวะเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆทำงานล้มเหลวและเป็นอันตรายถึงชีวิต

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อก่อโรคฉี่หนู

  • คนที่ทำงานฟาร์มปศุสัตว์หรือสัมผัสเนื้อหรือมูลของสัตว์
  • คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ
  • ผู้ที่ชอบเดินป่า ท่องเที่ยวตามแม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำตก
  • ผู้ที่อาบน้ำตามแม่น้ำ ลำคลอง ที่เป็นแหล่งน้ำจืดทั้งหลาย
  • ชาวประมงที่หาสัตว์ตามแหล่งน้ำจืด

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคฉี่หนู

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยคือ ภาวะไตวายเฉียบพลัน สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเกี่ยวกับปอดที่ร้ายแรงอย่างการมีเลือดออกในปอด ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้

  • การแท้งในหญิงตั้งครรภ์
  • ภาวะแข็งตัวของเลือดในหลอดอาหาร
  • กล้ามเนื้อลายสลายตัว
  • โรคเกี่ยวกับตา เช่น ม่านตาอักเสบ
  • โรคหลอดเลือดในสมอง เลือดออกในเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง หลอดเลือดสมองอักเสบ
  • อาการแพ้ที่ทำให้มีไข้หรือเกิดผื่นที่ขา
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • ภาวะหัวใจวาย

 

การป้องกัน

  • เลี่ยงการลุยน้ำ หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน 
  • สวมรองเท้าบูท และถุงมือยาง ถ้าจำเป็นต้องลุยน้ำ
  • ปิดพลาสเตอร์ หากมีบาดแผลเพื่อไม่ให้แผลสัมผัสกับน้ำ
  • ทานอาหารปรุงสุก สด ใหม่ ผัก ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาด
  • ล้างมือ อาบน้ำ เมื่อลุยน้ำมา ต้องชำระล้างร่างกายทันที
  • ทำความสะอาดบริเวณบ้าน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมภายในบ้านไม่ให้มีหนูชุกชุม
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.