4 ระยะอาการนิ้วล็อค ที่ต้องรักษา
นิ้วล็อค ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมที่ใช้มือทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ปลอกหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นงอนิ้วมือเกิดอักเสบทำให้เหยียดนิ้วออกได้ไม่เต็มที่
โดยทั่วไปจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย กลุ่มโรคนิ้วล็อคในปัจจุบันพบได้มากขึ้น เนื่องจากใช้นิ้วมือในการเล่นสมาร์ทโฟน พิมพ์คีย์บอร์ด หรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
จึงมีโอกาสเป็นโรคนิ้วล็อคได้ โดยอาการจะเริ่มจากการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ มีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว เหยียดนิ้ว หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที
สาเหตุของโรคนิ้วล็อค
โรคนิ้วล็อคเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้ว ตรงบริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้วทำให้นิ้วขยับได้ไม่ดี งอข้อนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม เหมือนนิ้วถูกล็อคไว้
กลุ่มคนเสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อค
- ผู้ที่มีความจำเป็นต้องทำงานในลักษณะเกร็งนิ้วมือบ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น แม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ คนทำอาหาร ช่างฝีมือด้านต่างๆ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคเก๊าท์ หรือโรครูมาตอยด์ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อคมากกว่าคนปกติ
อาการนิ้วล็อคแบ่งเป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ
- ระยะที่ 2 มีอาการสะดุดเวลากำมือหรือเหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้เอง
- ระยะที่ 3 กำมือแล้วเกิดอาการล็อค ไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้มือมาช่วยง้างออก
- ระยะที่ 4 ไม่สามารถกำมือสุดได้ และอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย
การรักษา
การรักษามีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม งดใช้งาน หรือพักการใช้งาน ประคบเย็น หรือน้ำอุ่น
- รับประทานยา ลดอักเสบ ลดบวม
- ฉีดยา วิธีนี้จะได้ผลค่อนข้างเร็ว อยู่ได้ประมาณ 2-3 เดือน ในบางรายอยู่ได้นานกว่านั้น
- ผ่าตัด ในกรณีฉีดยาแล้ว อาการไม่ดีขึ้นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
วิธีลดความเสี่ยงการเป็นนิ้วล็อค
- ไม่หิ้วของหนักเกิน และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ อาจใช้วิธีการอุ้มประคองหรือรถลากแทนการหิ้วของ เพื่อลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ
- ควรใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้น และจัดทำขนาดที่จับเหมาะแก่การใช้งานขณะเครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน
- งานที่ต้องใช้เวลาทำงานต่อเนื่อง ทำให้เมื่อยหรือระบมควรพักมือเป็นระยะๆ และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือ
- ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น
- ถ้ามีข้อฝืดตอนเช้า หรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือ กำแบ ในน้ำเบาๆ จะทำให้ข้อฝืดลดลง
- หลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยมือ การบิดผ้าให้แห้งมากๆ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อมือเพื่อให้กำแน่นๆ