4 ระยะของริดสีดวงทวารหนัก รู้ให้ทันรักษาได้ไว
โรคริดสีดวงทวารหนักเป็นโรคที่พบบ่อยในวัย 20 ปีขึ้นไป เกิดจากการบวมหรือการหย่อนหยานของเนื้อเยื่อบริเวณภายในปากทวารหนัก โดยเนื้อเยื่อนี้จะช่วยยืดหยุ่นรองรับการเสียดสีระหว่างอุจจาระกับทวารหนัก
ปัจจุบันเชื่อว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก เช่น ภาวะท้องผูก การเบ่งอุจจาระนานๆ รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย และรสจัด รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจกระตุ้นอาการริดสีดวงทวารได้
หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น และอาการไม่ดีขึ้น ไม่ควรชะล่าใจควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยอาการตั้งแต่เริ่ม ส่งผลให้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ชนิดของริดสีดวงทวาร
แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายใน หมายถึง ริดสีดวงทวารที่เกิดเหนือทวารหนักขึ้นไป ตามปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่ได้ และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อสำไส้ใหญ่ตอนปลายสุดจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน
สำหรับริดสีดวงทวารชนิดภายในยังแบ่งย่อยออกเป็น 4 ระยะตามความรุนแรงของโรคได้แก่
- ระยะที่1 ริดสีดวงทวารที่มีเลือดออกแต่ไม่มีก้อนยื่น
- ระยะที่2 ริดสีดวงทวารที่ยื่นพ้นปากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และสามารถหดกลับเข้าที่ได้เอง
- ระยะที่3 ริดสีดวงทวารที่ยื่นพ้นปากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และจะกลับเข้าที่ได้โดยต้องใช้นิ้วดันกลับ
- ระยะที่ 4 ริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมาตลอดเวลาไม่สามารถดันกลับเข้าที่ได้ หรือมีภาวะการเกิดลิ่มเลือดเฉียบพลันหรือมีการยื่นของเยื่อบุช่องทวารหนักออกมาทั้งหมด ริดสีดวงทวารทั้งภายในและภายนอกจะเกิดร่วมกันบ่อยครั้ง
- ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายนอก หมายถึง ริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้ หลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกคลุมด้วยผิวจึงอาจเกิดเจ็บปวดได้ เพราะผิวหนังมีปลายประสาทรับความรู้สึก
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวาร
- ท้องผูก ถ่ายเป็นก้อนแข็งเวลาถ่ายต้องเบ่งมากเป็นประจำ
- รีบเร่ง พยายามเบ่งถ่ายแรงๆ ให้หมดเร็วๆ
- รับประทานผักผลไม้น้อย รับประทานแต่เนื้อสัตว์ อุจจาระจะจับเป็นก้อนแข็งทำให้ถ่ายลำบาก
- ดื่มน้ำน้อย ทำให้อุจจาระแห้งแข็ง
- นั่งในห้องน้ำนานเกิน อ่านหนังสือหรือดูมือถือเพลิน จะทำให้หัวริดสีดวงพองขยายตัวมากขึ้น
- การตั้งครรภ์ มดลูกที่โตขึ้นจะทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานไม่สะดวก ริดสีดวงจะขยายตัวมากขึ้น
- อายุที่มากขึ้น ทำให้มีการหย่อนยายของเนื้อเยื่อเกี่ยวกันของเยื่อบุช่องทวารหนักมากขึ้น และริดสีดวงทวารหนักอักเสบง่ายขึ้น
อาการแบบไหนที่ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
- ถ่ายมีมูกขาวๆ ปนกับเลือดสีคล้ำๆ
- มีภาวะซีดร่วมด้วย
- ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่สุด หรืออาการถ่ายไม่ค่อยออก
- รู้สึกปวดในรูปทวารหนักตลอดเวลา
- มีอาการท้องผูก สลับท้องเสีย
- ขนาดของอุจจาระเล็กลงอย่างต่อเนื่อง
- น้ำหนักลงลด
- มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
การป้องกัน
- ขับถ่ายเป็นเวลา ไม่นั่งขับถ่ายเป็นเวลานาน
- รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มกากใยในอาหารกระตุ้นการขับถ่ายให้ง่ายขึ้น อุจจาระไม่เป็นก้อนแข็ง
- ดื่มน้ำให้มาก สม่ำเสมอ อุจจาระไม่แห้งแข็ง ขับถ่ายได้ง่าย
- ออกกำลังสม่ำเสมอจะช่วยให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ขับถ่ายได้คล่อง