ตรวจเช็ค 6 สัญญาณเตือน โรคมะเร็งในช่องปาก
มะเร็งช่องปากเป็นอีกหนึ่งโรคที่อันตรายถึงชีวิต และมีปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำสำหรับกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบมากในกลุ่มที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ริมฝีปาก มักเกิดที่ริมฝีปากล่าง ซึ่งอวัยวะในช่องปากอาจเกิดมะเร็งได้ทุกต่ำแหน่ง เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล
โดยปัจจุบันมะเร็งช่องปากเป็นโรคที่พบได้ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบมากที่สุดในประเทศไทย โดยเซลล์ส่วนใหญ่ของมะเร็งช่องปากเป็นชนิด Squamous Cell Carcinoma ที่มีความรุนแรงสูง และก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 50
มะเร็งช่องปากคือ
มะเร็งช่องปาก เป็นเนื้อร้ายที่เกิดและพัฒนาขึ้นในส่วนใดก็ตามที่อยู่ในช่องปาก โดยเซลล์มะเร็งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณริมฝีปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ในกรณีที่พบได้น้อย เซลล์มะเร็งยังสามารถเกิดขึ้นได้ที่ต่อมทอนซิลด้านหลังช่องปาก ซึ่งเป็นต่อมผลิตน้ำลายรวมถึงบริเวณช่องคอที่เชื่อมต่อระหว่างปากกับหลอดลมหรือคอหอย ทั้งนี้มะเร็งช่องปากคือหนึ่งในกลุ่มมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ ซึ่งการรักษามะเร็งช่องปากอาจคล้ายกับการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันนี้
อาการของมะเร็งช่องปาก
หากผู้ป่วยพบว่าในช่องปากบริเวณกระพุ้งแก้มหรือลิ้นมีปื้นสีขาวหรือแดงปรากฎขึ้นเป็นรอยอยู่นาน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงระยะเริ่มต้นของโรคมะเร็งช่องปาก ดังนั้นหากพบอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรรีบตรวจหาสาเหตุของอาการ อย่างไรก็ตามอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งช่องปากนั้นประกอบด้วย
- รอยโรคสีแดงสีขาว หรือสีขาวปนแดง ในช่องปาก
- คล้ายแผลร้อนในที่เรื้อรังนานกว่า 2-3 สัปดาห์
- อาจมีก้อนเนื้อบวมโต
- อาจมีอาการชา ปวด หรือมีเลือดไหลในช่องปากโดยไม่ทราบสาเหตุ
- กลืน เคี้ยวอาหารลำบาก พูดหรืออ้าปากได้น้อย เสียงเปลี่ยน เจ็บในหู
- น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
สาเหตุของมะเร็งช่องปาก
เกิดขึ้นจากความผิดปกติของการพัฒนาเซลล์ในช่องปากจนเกิดการกลายพันธุ์ในระดับพันธุกรรม ซึ่งทั่วไปแล้วจะเริ่มต้นจากเซลล์ปกติชนิดสะความัส (Squamous Cells) ที่พบได้มากในช่องปากและริมฝีปาก กลายมาเป็นเซลล์มะเร็งสะความัสในที่สุด (Squamous Cell Carcinomas) การกลายพันธุ์ของเซลล์จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งนี้จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเซลล์มะเร็งในช่องปากอาจกลายเป็นเนื้อร้ายและแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ เช่น บริเวณศีรษะ หรือลำคอ แม้ว่าการกลายพันธุ์ของเซลล์ดังกล่าวยังไม่แน่ชัดว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร แต่พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งช่องปากได้ ดังนี้
- การสูบบุหรี่ สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงการเกิดเซลล์มะเร็งมากกว่าผูที่ไม่ได้สูบ 6 เท่า
- การบริโภคยาสูบผ่านการเคี้ยว การสูดดม หรือการจุ่ม อาจก่อให้เกิดการพัฒนาเซลล์มะเร็งที่บริเวณ เหงือก แก้ม หรือริมฝีปาก มากกว่า 50 เท่า
- ในครอบครัวมีประวัติสมาชิกที่เคยเป็นมะเร็งมาก่อน
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร พบว่าผู้ที่ดื่มมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ 6 เท่า
- การได้รับแสงอาทิตย์มากจนเกินไป โดยเฉพาะในวัยเด็ก
- โรคติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus) เป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งที่อวัยวะเพศชาย โดยเชื้อเอชพีวีมีด้วยกันหลากหลายชนิด สำหรับชนิดที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งศีรษะและลำคอมากที่สุดคือ เอชพีวี 16 ทั้งนี้เชื้อเอชพีวีสามารถติดต่อส่งผ่านกันด้วยการสัมผัสของบาดแผลกับบริเวณที่มีเชื้อ ตลอดจนการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางปาก ช่องคลอด และทวารหนัก
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยและเฝ้าระวังมะเร็งในช่องปาก สามารถทำได้ง่ายจากการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ โดยทันตแพทย์จะตรวจหาลักษณะจำเพาะบางอย่าง เช่น การบวมโตของเนื้องอก หรือหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อในช่องปาก รวมถึงการบวมโตบริเวณศีรษะและลำคอ การตัดเนื้อเยื่อส่งตรวจจำเป็นต้องทำในกรณีสงสัยโรคมะเร็งในช่องปาก เพื่อให้ผลการตรวจพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อการรักษาโรคมะเร็งในช่องปากมีกระบวนการเช่นเดียวกับมะเร็งในตำแหน่งอื่นๆ คือการผ่าตัดรักษาเอาเนื้องอกออก ร่วมกับการฉายรังสีรักษา และอาจใช้เคมีบำบัดด้วยในกรณีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่
การป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงวิธีการป้องกันมะเร็งได้อย่างแน่ชัด แต่ผู้ป่วยสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปากได้ โดยแนวทางการป้องกันอาจประกอบไปด้วยดังนี้
- ลดความเสี่ยงในการทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก เช่น ลดการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเคี้ยวหมากพลู การสูบยาเส้น
- รับประทานอาหาร ผักและผลไม้หลากหลายชนิดที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ
- หมั่นตรวจสุขภาพของช่องปากและฟันทุก 6 เดือน หากมีความผิดปกติใดๆ เช่น ฟันผุ ฟันบิ่น ฟันปลอมหลวม ให้รีบพบทันตแพทย์ทันที