Bangpakok Hospital

5 วิธี เช็คเบื้องต้น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

17 มิ.ย. 2565

อาการปวดคอ ปวดหลัง และอีกหลายอาการปวดตามร่างกาย ไม่ว่าจะเกิดจากการก้มหน้าเล่นสมาร์ตโฟน หรือนั่งทำงานต่อเนื่องยาวนาน อาจเป็นอาการปวดหลังทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้

แต่เมื่อไหร่ที่มีอาการปวดคอ ปวดหลัง ร้าวลงแขน ขาหรือเท้า ร่วมกับอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกถึงโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเหมือนที่กล่าวมาควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นอย่างถูกวิธี


รู้จักกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นโรคของความเสื่อมอย่างหนึ่ง ปกติแล้วหมอนรองกระดูกสันหลังมีลักษณะคล้าย โช๊คอัพ อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง มีคุณสมบัติในการยืดหยุ่นรองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลังในเวลาที่เคลื่อนไหว 

เมื่อเราเด็กๆ ภายในหมอนรองกระดูกสันหลังจะมีองค์ประกอบของน้ำเป็นส่วนสำคัญ พอเวลาผ่านไปของทุกอย่างย่อมเสื่อมลง น้ำในหมอนรองกระดูกสันหลังก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน จึงทำให้ความยืดหยุ่นน้อยลง เมื่อหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนใดก็จะมีอาการปวดแสดงออกมาตามแนวของเส้นประสาทนั้น

บริเวณไหนที่หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทบ่อยสุด

หมอนรองกระดูกสันหลังตรงข้อด้านล่างของกระดูกเอว เป็นจุดที่มีความเสื่อมสูงสุดตามสถิติ และพบการกดทับของเส้นประสาทได้บ่อย รวมถึงหมอนรองกระดูกสันหลังที่คอที่มีโอกาสเสื่อมมากเช่นกันจากการใช้งานหนัก ทั้งนี้หากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ยุบตัวลงมา แต่ไม่กดทับเส้นประสาทผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดอย่างใด เช่นเดียวกันหากหมอนรองกระดูกยังไม่เสื่อม แต่บังเอิญไปกดทับเส้นประสาทก็จะมีอาการปวดตามมา

ภาวะนี้พบมากในวัยใด


1.กลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเริ่มมีความเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมอยู่แล้ว พออกแรงมากๆ อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกออกมาทับเส้นประสาทได้ในทันทีเรียกว่า โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทชนิดเฉียบพลัน

2. กลุ่มวัยหนุ่มสาวที่มี Activity มากๆ ชอบออกกำลังกายหนักๆ หรือเคยประสบอุบัติเหตุ ย่อมมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ง่ายกว่า หากคนที่ไม่ชอบ Activity หากใช้งานกระดูกสันหลังไม่ถูกต้องเช่น พวกออกฟิศซินโดรม หมอนรองกระดูกสันหลังก็เสื่อมได้เช่นกัน แต่ท้ายสุดหมอนรองกระดูกสันหลังทุกคนต้องเสื่อมสภาพอยู่แล้ว แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

5 วิธีเช็ค หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

1. มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา หากคุณมีอาการปวดสะโพกหรือเอว และมีอาการร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา ไม่ว่าจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดแค่ข้างใดข้างหนึ่ง โดยลักษณะร้าวลงขาส่วนใหญ่จะร้าวไปที่ก้น หรือด้านหลังต้นขา ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการชาและส่วนใหญ่อาการจะเป็นหนักตอนที่นั่งนานหรือยืนนานๆ 
2. อาการอ่อนแรงที่ขาร่วมด้วย โดยแพทย์ให้เช็คง่ายๆ คือให้ลองกระดกข้อเท้าขึ้นหรือกระดกนิ้วโป้งเท้าขึ้นค้างไว้ หรือว่าถ้าคุณมีเพื่อนอาจจะลองให้เพื่อนใช้มือต้านแรงตอนกระดกเท้าหรือนิ้วโป้งเท้าไว้ เทียบกับอีกข้างที่ปกติก็ได้ ถ้ารู้สึกว่าอ่อนแรงกว่าอีกด้าน เป็นสัญญาณบอกว่าควรรีบพบแพทย์ทันที 
3. ลองยกขาของตัวเองในท่านอนหงาย โดยให้เพื่อนใช้มือรองข้อเท้าแล้วยกขึ้นมาจนเข่าเหยียดตรง โดยให้คุณทิ้งน้ำหนักขาไปที่มือของเพื่อนทั้งหมด ห้ามเกร็งขาหรือออกแรง ถ้าเกิดมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
4. ให้สังเกตเวลา ไอ จาม เบ่ง ว่ามีอาการปวดหลังหรือสะโพกหรือไม่ นั่นอาจแสดงถึงอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้ แต่หากยังไม่มีอาการลงขา ก็อาจจะไม่ได้เคลื่อนไปทับเส้นประสาท แต่หากมีอาการเช่นนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
5. อาการชาที่ส่วนขา หากยังไม่แน่ใจว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ สามารถเช็คได้ง่ายๆ โดยการใช้ไม้จิ้มฟัน มาจิ้มบริเวณที่รู้สึกชาเทียบกับขาอีกด้าน หากรู้สึกต่างกันอาจบ่งบอกถึงอาการชา ซึ่งอาการชาในหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอาจไม่ได้มีอาการตลอด แต่อาจเกิดกับบางกิจกรรมหรือบางท่าเช่น การยืนหรือนั่งนานๆ ซึ่งถ้าหากเกิดอาการนี้ขึ้นควรปรึกษาแพทย์ เพราะบ่งบอกถึงการถูกกดทับของเส้นประสาทแล้ว

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.