Bangpakok Hospital

5 โรคยอดฮิตหน้าฝน ที่เด็กเล็กต้องระวัง

9 มิ.ย. 2565


ในฤดูฝนแต่ละปี เด็กๆจะไม่สบายได้ง่ายเพราะอากาศจะเริ่มเย็นลงและชื้นมากขึ้น แถมยังมีเชื้อไวรัสอีกมากมายที่สามารถทำให้เด็กๆไม่สบายได้ 

ซึ่งเด็กเล็กมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะระบบภูมิต้านทานในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ แข็งแรง อาจนำมาซึ่งการติดเชื้อ และเกิดโรคต่างๆได้ง่าย

ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคที่เด็กนิยมเป็นมากที่สุดในช่วงหน้าฝน รู้สาเหตุ และวิธีป้องกันโรคจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ป้องกันได้ทันท่วงที และสังเกตอาการได้อย่างรู้เท่าทัน

5 โรคฮิตหน้าฝน

  1. โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza เป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปีเพราะไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการหลักๆ เด็กจะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอ หรือเจ็บคอ ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสเสี่ยงและมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น
  1. โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัส (Enterovirus 71, Coxsackie) พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน สำหรับกลุ่มอาการของโรคเด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี (อนุบาลถึงประถม)
  1. โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงลาย เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดถ้าได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรูสึกอ่อนเพลียและปวดท้อง โรคนี้ระบาดได้ทั้งปีโดยเฉพาะหน้าฝน เพราะโอกาสที่น้ำขังมีได้มาก เพราะฉะนั้นอาการที่บ่งบอกว่าลูกอาจเป็นไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงมาก กินยาลดไข้เท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล ปวดหัว ปวดกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว มีอาการหน้าแดง ปากแดง
  1. โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นกันบ่อย แต่มักจะเป็นในบางช่วง เมื่อเป็นแล้วมักจะติดกันโดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน กลุ่มอาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้องลามไปต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ดและเป็นแผลขึ้น มักหายได้เองประมาณ 2-3 สัปดาห์ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป ซึ่งเป็นวัคซีนเสริมยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด
  1. โรคไอพีดีและปอดบวม หรือที่เรียกว่า Invasive Pneumococcal Disease (IPD) คือ โรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรงและอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม และชักได้ ส่วนการติดเชื้อกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง งอแง ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ 

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.