เปรียบเทียบการรักษาโควิดแบบ Self Isolation vs. Home Isolation
การรักษาผู้ติดเชื้อโควิด แบบผู้ป่วยนอก หรือ Outpatient Department (OPD) สำหรับผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่มากกว่า 90% เป็นผู้ป่วยสีเขียว
ในขณะที่ระบบแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จะเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- อายุมากกว่า 60 ปี
- โรคปอดเรื้อรัง
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคหัวใจแต่กำเนิด
- โรคหลอดเลือดสมอง
- เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
- ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30)
- ตับแข็ง
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
ผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พบผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ประกอบกับมีการรับวัคซีนมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงสามารถรักษาที่บ้านได้ โดยให้การรักษาตามอาการ ซึ่งเป็นการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ถึงแม้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (Self Isolation) และ Home Isolation (HI) ผู้ป่วยจะรักษาตัวที่บ้านเหมือนกัน แต่ 2 ระบบนี้การรักษาต่างกันคือ
- การติดตามอาการแบบ HI จะมีการติดตามอาการทุกวัน ในขณะที่ OPD จะไม่มีการติดตามอาการ
- อุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น เทอร์โมมิเตอร์ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ทาง HI จะได้รับอุปกรณ์เพื่อติดตามอาการประจำวัน แบบ OPD จะไม่มีให้
ส่วนการรักษาที่ยังเหมือนกันคือ
- การแยกกักตัวที่บ้าน ทั้ง OPD และ HI จะต้องแยกกักตัวจนครบตามกำหนด
- การจ่ายยาตามอาการ เช่น ยารักษาพื้นฐาน และฟ้าทะลายโจร
- ระบบการส่งต่อเมื่อมีอาการแย่ลง หากมีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับมายังโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที