Bangpakok Hospital

ต่อมลูกหมากอักเสบ ปัญหาที่ผู้ชายไม่ควรมองข้าม

20 พ.ค. 2565



ต่อมลูกหมากอักเสบจะทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด บางครั้งมีอาการปวดเอว ปวดหลัง และปวดตึงบริเวณท้องน้อยร่วมด้วย บางรายรุนแรงจนปัสสาวะไม่ออก กรณีที่มีอาการอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการไข้หนาวสั่นร่วมด้วย

ซึ่งต่อมลูกหมากอักเสบเป็นการอักเสบบริเวณต่อมลูกหมากเป็นต่อมที่อยู่ในระบบสืบพันธุ์และอยู่ใกล้กับระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะนี้สามารถเกิดได้กับผู้ชายทุกวัย โดยอาจเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรียและการบาดเจ็บ

 

ผู้ชายหลายๆท่านอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็น จึงไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีการละเลยอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ ฉะนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรเข้ารับการรักษาโดยการรับยาหรือเข้าพบแพทย์ทันที 

โรคต่อมลูกหมากอักเสบ

เกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรียและการบาดเจ็บ สามารถแบ่งตามอาการได้ดังนี้

  1. ต่อมลูกหมากอักเสบชนิดเฉียบพลัน ที่มักมีอาการรุนแรงเกิดขึ้นฉับพลัน มีสาเหตุส่วนใหญ่จากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะโดยผ่านจากท่อปัสสาวะเข้าสู่ต่อมลูกหมาก ในบางครั้งอาจจะมีอาการที่ไม่รุนแรงและอาจจะไม่รู้สึกตัวซึ่งทำให้ผู้ที่เป็นไม่ได้ไปรักษาก็อาจทำให้เชื้อนั้นยากแก่การรักษา

 

  1. ต่อมลูกหมากชนิดอักเสบเรื้อรัง เป็นการอักเสบที่มีอาการนานเกินกว่า 3 เดือน โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเช่นเดียวกันแต่เป็นการติดเชื้อแบบไม่รุนแรง แต่จะมีความรู้สึกไม่สบายตัวอยู่ตลอดเวลา หรือมีอาการปวดเรื้อรังรำคาญจากความรู้สึกในบริเวณเชิงกรานหรือท้องน้องส่วนล่าง ส่วนใหญ่เป็นบริเวณฐานของอวัยวะเพศและรอบทวารหนัก

 

  1. ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยมีอาการของต่อมอักเสบเรื้อรังแต่ตรวจไม่พบเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุไม่แน่ชัด อาจเกิดจากภาวะภูมิต้านทานในร่างกายผิดปกติ หรือจากเชื้อที่ไม่ใช่กลุ่มแบคทีเรีย

สาเหตุของต่อมลูกหมากอักเสบ

การอักเสบของต่อมลูกหมากแต่ละชนิดอาจมีสาเหตุที่ต่างกัน โดยการอักเสบชนิดเฉียบพลันอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเล็ดลอดเข้าไปยังต่อมลูกหมากผ่านทางท่อปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อบริเวณดังกล่าว แต่การอักเสบชนิดเรื้อรังยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เพียงแต่คาดว่าเกิดจากการกลับมาติดเชื้อซ้ำเนื่องจากปัจจัยบางอย่าง

นอกจากนี้ปัจจัยบางประการก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะดังกล่าว เช่น 

  • มีอายุระหว่าง 30 - 50 ปี
  • มีประวัติเคยเป็นต่อมลูกหมากอักเสบมาก่อน
  • เคยเข้ารับการตรวจชิ้นเนื้อบริเวณต่อมลูกหมาก
  • มีโรคประจำตัวหรือประวัติการเจ็บป่วยเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะอักเสบ ภาวะท่อปัสสาวะผิดรูป เข้ารับการรักษาด้วยการสวนท่อปัสสาวะ โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะขาดน้ำ โรคทางเพศสัมพันธ์ มีเชื้อ HIV หรือเป็นโรคเอดส์
  • เคยบาดเจ็บบริเวณท้องน้อยที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุ การทำกิจกรรมอย่างการปั่นจักรยานหรือขี่ม้า
  • ถูกทารุณทางเพศ
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

การวินิจฉัยภาวะต่อมลูกหมากอักเสบ

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักอาการและประวัติการเจ็บป่วย ตรวจร่างกายและตรวจทวารหนัก (Digital Rectal Examination) จากนั้นแพทย์อาจตรวจด้วยขั้นตอนอื่น เช่น

  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาร่องรอยของการติดเชื้อจากตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วย
  • ตรวจเลือด เพื่อหาสัญญาณการติดเชื้อของร่างกาย และอาจช่วยให้พบสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการ
  • แสดงภาพภายในระบบทางเดินปัสสาวะและต่อมลูกหมากด้วยการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการอัลตราซาวด์ที่เป้นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการแสดงภาพ

 

ภาวะแทรกซ้อนของต่อมลูกหมากอักเสบ

การติดเชื้อและการอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หนองบริเวณต่อมลูกหมาก , ท่อนำอสุจิอักเสบ , ติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้สมรรถภาพทางเพศที่ลดลงเนื่องจากการอักเสบชนิดเรื้อรังอาจส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์และชีวิตคู่ ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีลูกยากได้ด้วย

การป้องกันต่อมลูกหมากอักเสบ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการอักเสบของต่อมลูกหมากอักเสบได้เต็มประสิทธิภาพ แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น 

  • ดูแลสุขอนามัยของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
  • สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อแบคทีเรียหรือโรคทางเพศสัมพันธ์
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ
  • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงจำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  • หากพบความผิดปกติใดๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.