ภาวะใหลตาย ภัยเงียบที่ควรรู้ทัน
โรคใหลตาย หรือภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวัดอย่างกะทันหัน ทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็ว
โดยผู้ที่มีอาการใหลตายจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าตนเองมีอาการนี้ เนื่องจากเสียชีวิตไปขณะหลับ และมักเป็นการเสียชีวิตอย่างฉับพลันในช่วงเวลากลางคืน คนใกล้ชิดจึงไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ทัน
ในประเทศไทยโรคนี้พบได้บ่อยในผู้ชายภาคอีสานอายุประมาณ 25-50 ปี และเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนั้นควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองหากมีอาการที่น่าสงสัย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อประเมินความเสี่ยงและตรวจเพิ่มเติมเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
โรคใหลตายเกิดจากอะไร
สาเหตุเกิดจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้สมองตายและเสียชีวิตเฉียบพลันได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคใหลตาย
- ผู้ที่เคยรอดชีวิตจากการใหลตายมาก่อน
- เคยมีอาการหน้ามืด หรือหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุมาก่อน
- ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิดบรูกาดา
- มีประวัติคนในครอบครัวเสียชีวิตฉับพลันหรือมีประวัติโรคใหลตายในครอบครัว
อาการของโรคใหลตาย
ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตฉับพลันขณะหลับในเวลากลางคืนโดยไม่ทราบว่าตนเองมีอาการผิดปกติ แต่หากผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัวหรือคนใกล้ตัวพบเห็นอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
- อึดอัด หายใจลำบาก หายใจเสียงดัง
- แน่นหน้าอก ใจสั่น
- แขนขาเกร็ง ชัก
- ริมฝีปากเขียวคล้ำ
- อาจมีปัสสาวะและอุจจาระราด
การวินิจฉัยโรคใหลตาย
1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยจะติดตั้งอุปกรณ์บริเวณหน้าอกผู้ป่วยเพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและจังหวะการเต้นของหัวใจ ทั้งนี้หัวใจของคนเรามักมีจังหวักการเต้นไม่เสถียร การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพียงวิธีเดียวอาจไม่สามารถตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติได้ แพทย์จึงอาจฉีดยาบางชนิดในระหว่างการตรวจเพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยแสดงอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดบรูกาดาออกมา
2. การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ หากผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแสดงว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็นภาวะใหลตาย แพทย์อาจใช้การตรวจวิธีนี้ช่วยในการวิเคราะห์สาเหตุของโรคและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยใส่สายสวนผ่านทางเส้นเลือดดำบริเวณขาหนีบเข้าไปจนถึงหัวใจ จากนั้นจึงส่งสัญญาณไฟฟ้าไปตามตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
3. การตรวจพันธุกรรม แพทย์อาจแนะนำให้คนในครอบครัวของผู้ป่วยตรวจ DNA เพื่อวิเคราะห์ว่ามีโอกาสเกิดภาวะใหลตายหรือไม่ เนื่องจากภาวะนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
การรักษา
1. การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า โดยการฝังเครื่องไว้บริเวณหน้าอกด้านซ้าย เมื่อมีหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นเครื่องจะส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ
2. การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง โดยการใส่สายสวนหัวใจเข้าไปแล้วใช้ความร้อนจี้ตรงที่มีปัญหาเพื่อลดโอกาสการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ
3. การใช้ยา อาจใช้เป็นการรักษาเสริมหลังผู้ป่วยผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจแล้ว
วิธีป้องกันโรคใหลตาย
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะใหลตายที่ได้ผล แต่ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
1. ระมัดระวังการทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนและทานอาหารที่ถูกหลักอนามัย
2. รับประทานอาหารที่ให้สารอาหารเพียงพอต่อร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินบี
3. รับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ถั่วดำ ถั่วแระ เต้าหู้
4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ครั้งละมากๆ
5. ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ เช่น มีอาการท้องเสีย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และอาจดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียไป
6. กรณีที่คนในครอบครัวมีประวัติใหลตาย หรือมีอาการที่เข้าข่ายเป็นภาวะนี้ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงใหลตาย และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อวางแผนการตรวจเพิ่มเติมและรับการรักษาที่เหมาะสม