Bangpakok Hospital

ติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำ Home Isolation คืออะไร ต้องทำอย่างไร

22 มี.ค. 2565



การทำ Home Isolation เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายพันคนต่อวัน จึงทำให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ

อีกทั้งผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล หรืออยู่ในโรงพยาบาลเวลาสั้นๆ และไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

ซึ่งแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านแบบ Home Isolation หรือ การแยกกักตัวที่บ้านต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาจากแพทย์แล้วว่าอยู่ในกลุ่มสีเขียว หรือ มีอาการน้อย หากมีอาการหนักขึ้นสามารถส่งต่อเพื่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้

Home Isolation เป็นแนวทางสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในเกณฑ์ดังนี้

  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้
  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ Step Down หลังเข้ารับรักษาสถานที่ที่รัฐหรือรพ. อย่างน้อย 7 วัน และจำหน่ายยากลับบ้าน รักษาแบบ Home Isolation

 ผู้ที่เข้าเกณฑ์ในการทำ Home Isolation

  • ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
  • อายุน้อยกว่า 60 ปี
  • สุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • ไม่มีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกาย >30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว >90 กก.)
  • ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง , โรคไตเรื้อรัง (ระยะที่3,4) โรคหัวใจและหลอดเลือด , โรคหลอดเลือดสมอง , โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  • อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
  • ยินยอมแยกตัวในที่พักของตัวเอง

การปฎิบัติตัวของผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อทำ Home Isolation

  • ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยม และไม่ออกจากที่พัก
  • อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก
  • หากต้องเข้าใกล้ผู้อื่นควรสวมหน้ากากอนามัย และห่างอย่างน้อย 2 เมตร หรือประมาณหนึ่งช่วงแขน หากไอจามไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่น และหันหน้าไปยังทิศตรงข้ามกับตำแหน่งที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย
  • ไอจามขณะที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือปิดปากและไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก เนื่องจากอาจเปรอะเปื้อน หากไอจามขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก
  • ล้างมือด้วยเจลแอลกออฮอล์ หรือสบู่และน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ และ ก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน
  • ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้ายและให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ
  • ทำความสะอาดห้องน้ำและพื้นผิว ควรทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์หรือพื้นที่ที่อาจปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ
  • แยกสิ่งของส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์

คำแนะนำเพิ่มเติมในการสังเกตอาการตนเอง

  • ให้สังเกตอาการตัวเอง วัดอุณหภูมิ และ Oxygen Saturation ทุกวัน
  • หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ทันที
  • เมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ใช้รถสาธารณะให้ทุกคนในรถใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ

 




Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.