Bangpakok Hospital

พฤติกรรมเนือยนิ่ง ปัจจัยเสี่ยงป่วยโรคเรื้อรัง

25 ก.พ. 2565



พฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือ Sedentary Lifestyle หมายถึง การนั่งหรือนอนในกิจกรรมต่างๆโดยใช้พลังงาน 1.5 MET(Metabolic Equivalent of Task) และมีผลวิจัยออกมาว่า พฤติกรรมดังกล่าวนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่างๆ

พฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน โดยทำให้กระบวนการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลเป็นพลังงานลดลง น้ำหนักตัวจึงเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดและอาจสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกจากการไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควร ร่างกายจึงเสี่ยงต่อการเกิดโรค

ดังนั้นเราควรรู้จักกับพฤติกรรมเนือยนิ่งให้มากขึ้น รู้ถึงโรคต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับพฤติกรรมนี้ และลดความเสี่ยงด้วยการหากิจกรรมต่างๆมาทำ วันนี้แอดมินจึงมีเคล็ดลับเพิ่มกิจกรรมทางกายเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งมาฝากกันค่ะ

โรคที่มากับพฤติกรรมเนือยนิ่ง
1. โรคอ้วน
2. คอเลสเตอรอลและความดันโลหิตสูง
3. โรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจขาดเลือด
4. โรคหลอดเลือดสมอง
5. โรคเบาหวานชนิดที่ 2
6. โรคกระดูกพรุน หรือปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่า
7. โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล
หากมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นระยะเวลานาน จะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้

กิจกรรมช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง
สามารถแก้ไขได้ด้วยการออกกำลังกาย โดยการเริ่มทีละน้อยซึ่งจะดีกว่าการไม่เริ่มขยับร่างกายเลย โดยเริ่มจากการลุกขึ้นยืนสลับกับนั่งในระหว่างวัน หรือเดินยืดเส้นยืดสายในช่วงพักระหว่างทำงาน หรือเคลื่อนไหวร่างกายเพิ่มเติมขึ้นในระหว่างวัน เช่น

1. ออกกำลังกาย หรือเล่นโยคะเพื่อยืดกล้ามเนื้อ
2. ลุกขึ้นยืนหรือเดินคุยโทรศัพท์
3. เลือกเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์
4. หากไม่สะดวกออกกำลังกาย ให้ทำความสะอาดบ้านหรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้ขยับร่างกายในแต่ละวัน
5. เดินเล่นนอกบริเวณบ้าน หรือพาสุนัขไปเดินเล่น
6. หากนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน หยุดพักเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถทุก 30 นาที เพื่อป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม

วิธีง่ายๆเหล่านี้จะช่วยให้สามารถลดพฤติกรรมเนือยนิ่งได้โดยไม่ต้องจำเป็นต้องหักโหมออกแรงจนเกินกำลัง ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปี ออกกำลังกายที่ระดับความหนักปานกลางเฉลี่ยสัปดาห์ละ 150 นาที หรืออย่างน้อยวันละ 30 นาทีควบคู่กับกา่รรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
 
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.