Bangpakok Hospital

โรคกระดูกพรุน ดูแลก่อน ป้องกันกระดูกหัก

20 ม.ค. 2565



โรคกระดูกพรุนนับเป็น “ภัยเงียบ” เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน เพราะว่าจะไม่มีอาการใดๆแสดงให้รู้ จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุล้มแล้วกระดูกหัก จึงทำให้รู้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

ซึ่งสาเหตุเกิดจากการสูญเสียมวลกระดูก จึงทำให้กระดูกเสียคุณสมบัติการรับน้ำหนัก กระดูกจึงเปราะบาง หักง่าย และในผู้ป่วยบางรายอาจตัวเตี้ยลง เนื่องจากกระดูกสันหลังโปร่งบางและยุบตัวลงช้าๆ และที่สำคัญผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกหักง่ายกว่าคนทั่วไป เพียงแค่ไอ จาม ก็อาจทำให้กระดูกหักได้ง่าย

ดังนั้นหากมีความสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูร่างกาย หรือตรวจหาความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน เพื่อวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนและกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร

สาเหตุภาวะกระดูกพรุน
กระดูกของเราจะมีการสร้างและการทำลายกระดูกอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงอายุก่อน 30-35 ปี ซึ่งจะมีการสร้างและการทำลายกระดูกที่มีการสร้างมากกว่าทำลาย หลังจากผ่านระยะนั้นไปคือประมาณช่วงอายุ 40 ปีเป็นต้นไป การทำลายกระดูกจะเริ่มมากกว่าการสร้าง เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากการสูญเสียฮอร์โมนเพศหญิงจากการหมดประจำเดือน โดยพบว่า 25% ของผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเป็นโรคกระดูกพรุน รวมถึงผู้หญิงที่หมดประจำเดือนเร็วหรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ทิ้งก่อนอายุ 45 ปี ก็จะมีความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงร่วมที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
1. คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน
2. ขาดวิตามินหรือแคลเซียม
3. ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ
4. สูบบุหรี่
5. น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วจากการออกกำลังกายหรืออดอาหาร
6. ใช้ยาสเตียรอยด์เกินขนาด
7. ฮอร์โมนไม่สมดุล
8. เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับ โรคระบบทางเดินอาหารผิดปกติ

การป้องกันโรคกระดูกพรุน
1. ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะกลางแจ้งตอนที่มีแดดอ่อน เช่น เวลาเช้า หรือเย็น
2. เมื่อมีความเจ็บป่วยไม่ว่าจากสาเหตุใด ควรรีบทำกายภาพบำบัด หรือเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เร็วที่สุดเท่าที่สภาพร่างกายจะเอื้ออำนวย
3. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลากระป๋อง ซึ่งสามารถรับประทานกระดูกปลาได้ หรือดื่มนมพร่องมันเนย ผักผลไม้
4. งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์
5. ไม่ควรซื้อยารับประทาน เช่น ยาลูกกลอน เพราะจะมีสารสเตียรอยด์ผสมอยู่ ทำให้กระดูกพรุนได้โดยไม่รู้ตัว

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.