Bangpakok Hospital

จะรู้ได้อย่างไร? ว่าเป็นจมูกอักเสบภูมิแพ้

13 ม.ค. 2565




โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกิดจากที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปทำปฏิกิริยากับสารภูมิต้านทาน (IgE) ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น แล้วเกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูก

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ถึงแม้จะไม่รุนแรง แต่ค่อนข้างจะมีผลต่อคุณภาพชีวิต และยังสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ป่วย เนื่องจากจะมีน้ำมูกไหลหรือจามอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้

ดังนั้นหากรู้สึกว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีความเสี่ยงที่จะเป็นจมูกอักเสบภูมิแพ้ ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอาการและเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อลดอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

อาการจมูกภูมิแพ้อักเสบ
1. จาม คันจมูก น้ำมูกไหล คันเพดานปากหรือคอมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป
2. ในเด็กที่มีอาการคันจมูก เด็กจะยกมือขึ้นขยี้ หรือเสยที่ปลายจมูกบ่อยๆ
3. รอบตามีสีคล้ำๆ โดยเฉพาะขอบตา

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค
1. กรรมพันธุ์ คุณพ่อหรือคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หากเป็นภูมิแพ้ทั้งคุณพ่อคุณแม่ ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้สูง
2. สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เช่น ฝุ่นควัน ควันธูป ควันบุหรี่ ขนสุนัข ขนแมว ไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ นุ่น ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา รวมทั้งอากาศเย็น ความชื้น

ภาวะแทรกซ้อนหากไม่ได้รับการรักษา
1. ไซนัสอักเสบ คือการมีหนองในโพรงไซนัส ทำให้มีไข้น้ำมูกเขียว ไอ ปวดหน้า จมูกไม่ได้กลิ่น
2. หูชั้นกลางอักเสบ เนื่องจากรูเปิดของท่อ eustachian tube ต่อระหว่างเยื่อบุจมูกและรูหู เมื่อมีการอักเสบและบวมของเยื่อบุจมูกทำให้มีการบวมและอุดตันของรู้ดังกล่าว
3. นอนกรน การมีเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง ทำให้มีต่อมอะดรีนอยด์ และทอนซิลโตขึ้นได้
4. หอบหืด เป็นโรคร่วมที่พบได้บ่อย โดยผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้จมูกจะเป็นโรคหอบหืดประมาณ 20%
5. ริดสีดวงจมูก โดยจะพบว่ามีก้อนใสๆในจมูกและทำให้เกิดอาการคัดแน่นจมูกตลอดเวลา

วิธีการตรวจวินิจฉัย
1. ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง โดยการหยดน้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้และน้ำยาเปรียบเทียบผลบวกและลบ บริเวณผิวหนังที่ท้องแขน หรือแผ่นหลัง แล้วสะกิดด้วยอุปกรณ์โดยเฉพาะ จะสามารถอ่านผลทดสอบที่ 15 นาที ซึ่งผู้ป่วยควรงดยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนทดสอบ

2. ทดสอบโดยการเจาะเลือด โดยตรวจหา IgE ที่จำเพาะต่อสารภูมิแพ้แต่ละชนิดในเลือดของผู้ป่วย ซึ่งข้อดีของการตรวจแบบเจาะเลือดคือ ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีนก่อนมาตรวจเลือด

3. ทดสอบภูมิแพ้ภายในโพรงจมูก โดยนำสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้หยดลงบนกระดาษกรองพิเศษแล้วนำไปวางไว้บนเยื่อบุจมูก จะทำให้ทราบว่าแพ้อะไรบ้าง และมีอาการแพ้ทางจมูกมากน้อยเพียงใด
 
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.