Bangpakok Hospital

ถุงลมโป่งพอง โรคร้ายที่มากับการสูบบุหรี่

6 ม.ค. 2565



โรคถุงลมโป่งพอง หรือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลายคนคิดว่าสาเหตุเกิดจากการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวและมักมองข้ามปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่อยู่ใกล้ตัว ซึ่งโรคถุงลมโป่งพอง คือการที่เราสูดสารที่เป็นพิษเข้าไป อาจจะอยู่ในรูปแบบของฝุ่นควัน แก๊ส หรือสารเคมีเข้าไปยังปอด


และสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองมากที่สุดคือ การสูบบุหรี่ ยิ่งสูบมากก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น นอกจากบุหรี่แล้วมลภาวะในอากาศตามท้องถนน หรือตามโรงงานก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้เช่นกัน


ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการเลิกสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงหรือสวมหน้ากากป้องกันตัวเองจากควันและสารพิษที่เป็นอันตราย หากใครที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที 


อาการของโรคถุงลมโป่งพอง 

สำหรับผู้ป่วยที่สูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน จะมีอาการไอเรื้อรัง ระยะแรกๆ มักไอตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือมีเสมหะเล็กน้อย จะยังไม่มีอาการเหนื่อย ระยะหลังจะมีอาการหอบเหนื่อยหายใจลำบาก อาการจะแย่ลง แม้จะงดสูบบุหรี่แล้วก็ตาม


 สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง

  • การสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค
  • มลพิษในอาการ การหายใจเอามลพิษในอากาศ เช่น ควันจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ไอเสียรถยนต์ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้
  • ควันพิษหรือสารเคมีจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองหรือควันพิษที่มีส่วนประกอบของสารเคมี หรือฝุ่นละอองจากไม้ ฝ้าย หรือการทำเหมืองแร่ หากหายใจเข้าไปแล้วก็มีโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้ง่ายขึ้น
  • ถุงลมโป่งพองจากการขาดอัลฟ่า-1 เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากการขาดโปรตีนชนิดหนึ่ง เมื่อร่างกายพร่องเอนไซม์ จะส่งผลให้ถุงลมที่ปอดถูกทำลาย 

ภาวะแทรกซ้อน

  • ภาวะที่โพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ เป็นภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ในรายที่มีอาการรุนแรง เพราะการทำงานของปอดได้ถูกทำลายไปบางส่วน
  • การติดเชื้อที่ปอด ทำให้เกิดปอดบวม
  • เกิดถุงลมที่พองตัวผิดปกติ สามารถพองตัวใหญ่ได้ประมาณครึ่งหนึ่งของปอด และเพิ่มโอกาสทำให้ปอดแตกได้
  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ โรคถุงลมโป่งพองสามารถเพิ่มความดันโลหิตของหลอดเลือดที่ไหลกลับเข้าสู่หัวใจ ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องขวาล้มเหลว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคถุงลมโป่งพอง

  • เลิกสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณที่มีควันพิษ หรือที่ที่มีคนสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยง และสวมหน้ากากป้องกันตัวเองจากควันและสารพิษที่เป็นอันตราย
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ปอดเกิดการระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควันพิษ น้ำหอม หรือล้างเครื่องปรับอากาศให้สะอาดอยู่เสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ควรตรวจสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอ
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.